10 โปรเจกต์หนังสั้นถูกคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ CCCL Panorama: Gulf of Thailand
top of page

10 โปรเจกต์หนังสั้นถูกคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ CCCL Panorama: Gulf of Thailand

อัปเดตเมื่อ 4 มิ.ย. 2566

22 พฤษภาคม 2565 - กรุงเทพมหานคร — เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยนร่วมกับสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ CCCL Panorama: Gulf of Thailand (พาโนรามา: อ่าวไทย) โดยจากการประกาศรับสมัครในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางเทศกาลได้คัดเลือกโปรเจกต์ภาพยนตร์ 10 โปรเจกต์ จากศิลปิน เยาวชน และคนทำภาพยนตร์ทั้งสิ้น 20 คนที่จะเข้าร่วมโครงการและนำเสนอโปรเจกต์หนังสั้นให้กับบุคคลากร/ตัวแทนทางด้านสิ่งแวดล้อมและภาพยนตร์ ระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายน 2566 ที่กรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมภายในโครงการได้ถูกออกแบบเพื่อให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น และสำรวจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอ่าวไทยเพื่อช่วยในการพัฒนาโปรเจกต์ภาพยนตร์สั้น

10 ทีมที่ได้รับคัดเลือกได้แก่

ณ ค่ำคืนนั้นทะเลได้เปลี่ยนไป (WORKING TITLE)

ใคร ๆ ต่างก็บอกว่าทะเลเป็นที่สำหรับคนที่หนีร้อนไม่ก็หนีรัก..

ณ ชายฝั่งทะเล นนท์พบกับหญิงสาวแปลกหน้าคนหนึ่ง ทั้งสองสนทนาถึงการกัดเซาะ กำแพงกันคลื่น ใจที่แหละสลายและสิ่งที่เหลืออยู่


อุสิชา อุดมศักดิ์ (โปรดิวเซอร์)

อุสิชา อุดมศักดิ์ ศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง อุสิชาได้มีโอกาสทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับภาพยนตร์สั้นนิสิตของเพื่อน ๆ หลายเรื่อง รวมถึงเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหนังสั้นวิทยานิพนธ์เรื่อง "ยามตะวันลับ" ของอธิพัฒน์ เลิศกรกิจจา ปัจจุบันอุสิชาทำงานเป็นนักเขียนบทอิสระ แต่ยังมีความมุ่งมั่นอยากร่วมสร้างสรรค์ และผลิตหนังสั้นในฐานะนักทำหนังอิสระ โดยเฉพาะการเล่าถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิธีการแก้ไข


อธิพัฒน์ เลิศกรกิจจา (ผู้กำกับ)

อธิพัฒน์เกิดและเติบโตในกรุงเทพมหานครมา เขาจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง โดยมีผลงานล่าสุด “ยามตะวันลับ” เป็นหนังสั้นวิทยานิพนธ์ความยาว 35 นาที ปัจจุบันเขาฝึกงานเป็นทีมเขียนบทอยู่ที่สตูดิโอคำม่วน โดยทั่วไปมีความสนใจในประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอโดยประเด็นหลักที่สนใจคือผลกระทบของแนวคิดทุนนิยม/บริโภคนิยมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

 

ทฤษฎีแพลงก์ตอนขยับปีก (THE PLANKTON EFFECT)

ทฤษฎีแพลงก์ตอนขยับปีก (THE PLANKTON EFFECT) จะพาทุกคนออกเดินทางไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่ลอยตามคลื่นทะเลอ่าวไทยที่เรียกว่า ‘แพลงก์ตอน (plankton)’ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่มีอิทธิพลต่อระบบนิเวศอย่างมาก


กวิน สิริจันทกุล (ผู้กำกับ)

กวิน เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามีความสนใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านวิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว การถ่ายภาพ และดนตรี ชื่นชอบธรรมชาติและหลงใหลในความงดงามของการเล่าเรื่องในรูปแบบภาพยนตร์ ที่ผ่านมาเขามีโอกาสทำหนังสั้นให้กลุ่มกิจกรรมอิสระและสื่อหลายสำนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางด้านวิทยาศาสตร์ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเขายังคงหาโอกาสเรียนรู้และพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ


อารยา สุวรรณทศ (โปรดิวเซอร์)

อารยา เป็นนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นประธานและผู้จัดตั้งกลุ่มสำรวจและศึกษาธรรมชาติธรรมชาติแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (exploronment TU) ที่ตั้งขึ้นเพราะต้องการผลักดันให้เกิดกิจกรรม birdwalk ในมหาวิทยาลัยทุกเดือนในอนาคต


อารยามีความสนใจในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การดูนก การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา เทคโนโลยีชีวภาพของสาหร่ายและแพลงก์ตอน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปกติในช่วงวันหยุดมักจะหากิจกรรมด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ เพื่อไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้มุมมองด้านสิ่งแวดล้อมกับผู้อื่น

 

INVERSION OF THE LAST BEACH

ภาพยนตร์สารคดีสั้นว่าด้วยเรื่องของผลกระทบจากคอนกรีตยักษ์ขนาดใหญ่ ที่ชื่อว่า “กำแพงกันคลื่น" ณ ทะเลปากน้ำปราณ


สิ่งนี้ทำให้ระบบนิเวศรอบชายหาดทั้งพืชพันธุ์และสัตว์อื่นๆ ต่างได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล จึงอยากชวนลงไปสำรวจวิกฤตโลกรวนผ่านสายตาคนในชุมชนและนักวิชาการถึงผลกระทบและปัญหาในมิติเชิงลึกต่างๆ ซึ่งในอนาคตชายหาดผืนสุดท้ายที่พวกเขาได้ร่วมกันปกป้องแห่งนี้ อาจกำลังหายไป


เจษฎา ขิมสุข (ผู้กำกับ)

เจษฎา ขิมสุข เป็นลูกเสี้ยว ไทย-จีน-ลาว เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง ในวัยที่เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ มักตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อและการมีอยู่ของมนุษย์ว่าคืออะไรกันแน่ ทำให้ชื่นชอบการทำงานสารคดี ที่ได้ลงไปสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คน ซึบซับ ทำความเข้าใจปัญหาหรือกระทั่งประเด็นทางสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ จึงตั้งเป้าหมายการทำงานในอาชีพสื่อมวลชนของตนเองไว้ว่า “เราจะต้องเติบโตจากการเรียนรู้เรื่องราวของผู้อื่น ไม่มากก็น้อย และผลงานของเราต้องไปขับเคลื่อนสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”


อัญชัญ อันชัยศรี (โปรดิวเซอร์)

อัญชัญ มาจากอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์…ถิ่นที่ถูกกดทับผ่านนายทุนโรงอ้อยน้ำตาล และการดำเนินของอาชีพของมวลผู้คนที่มีทางเลือกไม่มากนักในฐานะเกษตรกร หลังจากจบการศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อัญชัญตบเท้าเข้ากรุง มุ่งสู่โลกสื่อมวลชนเต็มตัวด้วยฐานะเด็กฝึกงานข่าวสังคม และกลายเป็นสื่อมวลชนในโต๊ะข่าวแบบเต็มตัวหลังจากฝึกงานเสร็จ


จากซากปัญหาของชายขอบชนบทที่เห็นมาตั้งแต่เกิด สู่การค้นพบต้นตอปัญหาภาพที่ใหญ่ขึ้นด้วยการเรียนรู้และซึมซับประสบการณ์ในรัฐรวมศูนย์ในฐานะสื่อมวลชน จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง เชื่อว่าทุกความสัมพันธ์เกิดจากการคัดสรรโดยธรรมชาติ


 

ภาพเปลี่ยนโลก (SHUTTER SPEED)

อิงฟ้า นักข่าวน้องใหม่ได้รับมอบหมายให้ไปทำข่าวโปรโมทพื้นที่ทะเลอ่าวไทย แต่กลับเจอเรื่องน่าประหลาด ที่นำพาเธอไปสู่วังวนปริศนา ที่เธอ พี่ชายของเธอ นวัต และเพื่อนของเธอ แพรฟ้า ต้องร่วมกันไขปริศนา


ปภาวรินท์ สังข์แก้ว (ผู้กำกับ, ผู้เขียนบท)

ปภาวรินท์กำลังเข้ารับการศึกษาคณะวิทยุกระจายเสียงฯ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีความถนัดด้านการเขียนบท สร้างสตอรี่บอร์ด ผลงานส่วนใหญ่ที่ถนัดจะเป็นแนวเสียดสีสังคม นำเหตุการณ์จริงมาสร้างสรรค์เป็นหนังสะท้อนสังคม และเคยมีผลงานประกวดสารคดีได้รับรางวัลด้านบทยอดเยี่ยมในสารคดีเมืองหาดใหญ่


กันตพงศ์ เกิดทิพย์ (กำกับภาพ, ลำดับภาพ)

กันตพงศ์กำลังเข้ารับการศึกษา วิชาเอกการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความถนัดในการตัดต่อ ถ่ายภาพ/วีดีโอ ทำกราฟฟิค และ 3D มีประสบการณ์ฝึกงาน ตำแหน่ง 3D generalist ที่บริษัท Real Bangkok และเคยมีผลงานประกวดสารคดีได้รับรางวัลด้านบทยอดเยี่ยมในสารคดีเมืองหาดใหญ่

 

เดอะ แมน ฟอร์ม อนาเธอร์ เวิลด์ (THE MAN FROM ANOTHER WORLD)

ฟิลด์ และ ฝน สองวัยรุ่นเผชิญหน้ากับ ‘กัปตัน’ หนุ่มปริศนาที่พกสมุดบันทึกที่เล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอ่าวไทย ชุดภาพถ่ายที่มีรูปพ่อของฟิลด์ในวัยเด็ก และเครื่องมือบางอย่างที่จะทำให้ฟิลด์เห็นภาพที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นมาก่อน


ภคพล ดีสลิด (ผู้กำกับ, ผู้เขียนบท)

นักเรียนภาพยนตร์ ปี 4 สายเขียนบท ที่มีความฝัน แต่ถูก Covid พรากประสบการณ์ชีวิต แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าคนเราสามารถที่จะมีความสามารถมากกว่า 1 สิ่ง จึงออกฝึกงานสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดในเวลาว่าง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Clap Scene (ผู้ช่วยตัดต่อ), โครงการ VIU Short (เขียนบท), Light House (Electrician) และฝึก Retouch กับสตูดิโอ ภคพลไม่ได้มองภาพยนตร์เป็นแค่การตลาด แต่มันสามารถสอดแทรกศิลปะและเอกลักษณ์ที่แสดงถึงตัวตนถ่ายทอดออกมาเป็น Message ที่สร้าง Engagement ต่อคนดู


ชนานนท์ ศรีพึ่ง (ผู้ช่วยผู้กำกับ)

ชนานนท์ เคยชนะการแข่งขันประกวดหนังสั้นขณะศึกษาระดับปวช. จนทำให้ตัดสินเข้าเรียนต่อภาพยนตร์ ปัจจุบันชนานนท์เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เคยทำหนังมาบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนใหญ่หนังที่เขากำกับเองมักออกมาไม่ได้ตามที่เขาคาดหวัง จนกระทั่งเพื่อนส่งโครงการ CCCL Panorma: Gulf of Thailand นี้มาให้ดู เพราะตนสนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมและอยากเป็น สส. ชนานนท์เลยตกลงร่วมกับเพื่อนสมัครเข้าโครงการ

 

ภาพมินิ(แอนิ)มอล (MINI(ANI)MAL PHOTOGRAPH)

ดาว ช่างภาพประจำสื่อแนวท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ ต้องการทำคอนเทนต์ท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยบริเวณแม่น้ำแม่กลอง แต่ดาวก็ต้องผิดหวังเมื่อเธอมาเยี่ยมยายแล้วพบว่าหิ่งห้อยแถวบ้านมีจำนวนน้อยลงจนน่าตกใจ


อธินันท์ อรรคคำ (ผู้กำกับ)

อธินันท์ สนใจเรื่องเล่าและการเล่าเรื่องที่มีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ช่วยสื่อสารประเด็นใหม่ ๆ เธอเคยได้รับประกาศนียบัตรชมเชยจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 28 จากหนังสั้นที่มีแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของตัวเองและคนในครอบครัว ชอบการเข้าค่าย ลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูล สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ และแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ อธินันท์มีความฝันอยากเขียนนิทานหรือวรรณกรรมเยาวชนเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่าในมุมที่ไม่ค่อยปรากฏในนิทานทั่วไป โดยเฉพาะเสือ ให้เด็กหรือเยาวชนได้อ่าน


สโรชา วิเศษคุณธรรม (กำกับภาพ)

สโรชาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสาขาการออกแบบและผลิตสื่อ มีความสนใจในด้านงานออกแบบ และตัดต่อภาพนิ่ง โดยรูปแบบงานที่ชอบเป็นพิเศษคือ Photo Manipulation เป็นการนำรูปภาพมาตัดต่อรวมกันเป็นภาพเดียวและสร้างเรื่องราวใหม่

 

มานีไม่ชอบกินไข่ต้ม (MANEE DOESN'T LIKE BOILED EGGS)

ตัวละครในภาษาพาทีที่ดันมีชีวิตจริง ชายฝั่งกับคลื่นทะเลในพื้นที่แถวอ่าวไทย สัตว์ทะเลที่กำลังทะเลาะกันเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งสามความสัมพันธ์ถูกเชื่อมโยงกันอย่างแปลกประหลาด


อชิรญา นิโนมิยะ (โปรดิวเซอร์)

อชิรญา นิโนมิยะ ปัจจุบันมีอายุ 19 ปี และกำลังศึกษาอยู่ที่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อชิรญาเป็นโปรดิวเซอร์และผู้ช่วยผู้กำกับในหลายๆ ผลงาน โดยมีผลงานเด่นๆ คือ การเป็นโปรดิวเซอร์ในโครงการภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นที่ทำร่วมกับไทยรัฐ (BUDC x THAIRATH)


จักรภัทร รุ่งแสง (ผู้กำกับ)

จักรภัทร รุ่งแสง ปัจจุบันมีอายุ 18 ปี และกำลังศึกษาอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จักรภัทรเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สั้นที่สนใจเกี่ยวกับบริบททางสังคมและนำมาถ่ายทอดผ่านศิลปะของภาพยนตร์ในรูปแบบต่างๆ โดยผลงานล่าสุด “ เมืองไทยเป็นเมืองยิ้ม “ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ สาขาช้างเผือกพิเศษ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 26 และภาพยนตร์สั้นที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเรื่อง “ Mama “ ได้รับการคัดเลือกไปฉายในเทศกาล Youth Diversity Film Festival ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

นา(ปลง) (SHINE MEMORIA)

มรดกนาเกลือจากคุณปู่ผู้ล่วงลับทำให้ นนท์ ต้องกลับบ้านเกิด ที่นั่นเขาพบกับลุงชัย ผู้เป็นเพื่อนเก่าของคุณปู่และผู้ดูแลผืนนาเกลือนี้ การพบเจอกันของทั้งสองที่มีความคิดแตกต่างกันนำพามาซึ่งการเข้าใจซึ่งกันและกัน ความเจ็บปวดของแรงงาน ความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตการทำนาเกลือและสิ่งแวดล้อม


จิรัฏฐ์ เลิศเศรษฐพันธุ์ (ผู้กำกับ, ผู้เขียนบท, กำกับภาพ, ลำดับภาพ)

นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชั้นปีที่ 3 คณะวิจิตรศิลป์ สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ที่มีความผันที่จะเป็นผู้กำกับภาพยนต์ และผผู้กำกับภาพ เพราะชื่นชอบในการทำและการดูภาพยนต์ตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาตัดสินใจทำคลิปและภาพยนต์สั้นส่งเข้าร่วมโครงการต่างๆ


สหภัทน์ ศุกรสมิต (ผู้กำกับ, ผู้เขียนบท)

นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชั้นปีที่ 3 คณะวิจิตรศิลป์ สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ สนใจในสื่อภาพเคลื่อนไหวและศิลปะแขนงอื่นๆ

 

ทะเลที่(ไม่)มีปลาทู (NO PLA(CE) TOO)

ปลาหมอตายเพราะปาก ปลาทูหายเพราะใคร?

ปลาทูเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นที่นิยมของการบริโภคของคนไทยมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลาทูแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันปลาทูแม่กลองมีจำนวนประชากรลดลงอย่างมากและมีราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากมลพิษทางชายฝั่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกิจกรรมของมนุษย์ จะเป็นอย่างไรเมื่อปลาทูที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จัก ลดจำนวนลงจนหายไปจากน่านน้ำอ่าวไทย?


คริสมัส เกิดศักดิ์ (ผู้กำกับ)

คริสมัสมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชุมพร เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


กุมารี ทองอิ่มบุญ (โปรดิวเซอร์)

กุมารี ทองอิ่มบุญ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดน่าน เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อาถรรพ์ทะเล (THE MYSTERIOUS SEA)

“ต่อ” นักการละครจัดทำละครที่มีชื่อว่า The Mysterious Sea โดยอ้างอิงมาจากตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับ “ติน” สิ่งมีชีวิตปริศนารูปร่างคล้ายมนุษย์ ผิวกายสีเหมือนโคลนจากป่าชายเลน ตาและปากถูกปิดไว้ด้วยผ้ามัดย้อมสีโกงกางที่แกะไม่ออก


ณกฤต สารพัตร์ (ผู้กำกับ)

ณกฤตเป็นนักศึกษาคณะอักษร มหาวิทยาล้ยศิลปากร เอกภาษาอังกฤษ เขาเชื่อว่าภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ทรงพลัง และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างหนังมาตลอด


สุภิชญา ใจหลี (โปรดิวเซอร์)

สุภิชญา จบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาการแสดงศึกษา




เกี่ยวกับเทศกาล CCCL

เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2562 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนและชุมชนในประเทศไทยได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชน และเสนอแนวทางการแก้ไข ปรับตัวและรับมือต่อวิกฤตนี้ ทางเทศกาลฯ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชิงทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น กิจกรรมพัฒนางานศิลปะของยุวทูต CCCL และกิจกรรมเสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาพยนตร์ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการรับมือต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

bottom of page