ผู้ชนะการประกวดหนังสั้นในเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน 2567
top of page

ผู้ชนะการประกวดหนังสั้นในเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน 2567

23 กุมภาพันธ์ 2566 - กรุงเทพมหานคร — ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ สำหรับรางวัลหนังสั้นจากเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยนปี 2567 ในปีนี้เทศกาล CCCL มีการมอบรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 9 รางวัล แบ่งออกเป็น รางวัลกรรมการรุ่นเยาวชน CCCL (Youth Jury Award), รางวัลขวัญใจผู้ชม (Audience Award), รางวัลสำหรับหนังสั้นที่ผลิตโดยเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี (Young Filmmaker Award) และรางวัลกรรมการหลัก (Jury Award) ในสายสารคดี และสายภาพยนตร์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่่สารคดี ซึ่งตัดสินโดยอ.ดร.ไกรวุฒิ จุลพงศธร (อาจารย์ประจำภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์ (ผู้ก่อตั้ง Documentary Club) และดร.พิริยะ อุไรวงศ์ (ที่ปรึกษาอิสระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) โดยในปีนี้เทศกาลฯได้มอบรางวัลรวมมูลค่า 250,000 บาท



โดยภายในงานประกาศผลรางวัลหนังสั้นซึ่งดำเนินรายการโดย คุณเอิร์ธ นิโรธ รื่นเจริญ (เอิร์ธ ออสการ์) ทางเทศกาล CCCL ได้รับเกียรติจากตัวแทนกรรมการตัดสินหนังสั้นรุ่นเยาวชน คุณพสธร วัชรพาณิชย์ และคุณจัยวาสน์ เจริญวัฒนาสุข รวมทั้งคุณ Fransiskus Tarmedi (มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คุณ Malaurie Carras (สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ), คุณ Kathryn Bimson (กรรมการที่ปรึกษาโครงการ CCCL), คุณบุษกร สุริยสาร (กรรมการที่ปรึกษาโครงการ CCCL), คุณ Irina Goryunova (UNDP Thailand), คุณ Andreas Klempin (สถาบันเกอเธ่), คุณณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์ (บริษัท วัน คูล ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด) และคุณคริสโตเฟอร์ จี มัวร์ (ผู้ก่อตั้ง CCCL) ขึ้นมอบเกียรติบัตรให้กับศิลปิน


รางวัลหนังสั้น

รางวัลกรรมการตัดสินหนังสั้นรุ่นเยาวชน CCCL (Youth Jury Award) พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท

AVOCADO ON PANCAKES กำกับโดย ชินานาง ธํารงธนกิจการ Jury statements:

"ด้วยเรื่องราวและตัวละครที่เข้าถึงง่าย บทภาพยนตร์ที่ฉลาด อีกทั้งประเด็นมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่ได้เล่าออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ทำให้หนังเรื่องนี้ดูสนุกและสามารถทำให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อการใช้ชีวิตได้อย่างเจ็บแสบ"


 

รางวัลสำหรับหนังสั้นที่ผลิตโดยเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี (Young Filmmaker Award) พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท

EVERYTHING IS FINE กำกับโดย อารียา จิตอารี


 

รางวัลขวัญใจผู้ชม (Audience Award) พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท

เรื่องเล่าเต่ามะเฟือง (THE STORY OF THE LEATHERBACK) กำกับโดย ดร.อลงกต ชูแก้ว


 

JURY AWARD: NON-DOCUMENTARY

Grand Jury Prize พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท

AVOCADO ON PANCAKES กำกับโดย ชินานาง ธํารงธนกิจการ

Jury statements:

"จุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่อารมณ์ขันในการนำเสนอและการแฝงประเด็นที่เสียดสีและคมคายในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นการเลือกเล่าเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมผ่าน Setting ของคนเมืองก็ทำให้หนังมีความโดดเด่นแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ทั้งยังเป็นการเปิดมุมมองของการเล่าเรื่องแบบใหม่ให้แก่ประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ" - ธิดา ผลิตผลการพิมพ์


"เข้าถึงได้ง่าย สะเทือนอารมณ์ และถูกขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาที่ดุเดือด นับว่าอัญมณีแห่งภาพยนตร์ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมวงกว้างได้อย่างดี" - ดร.พิริยะ อุไรวงศ์


Jury Prize พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท THE SWALLOWING SEA กำกับโดย Afif Fahmi

Jury statements: "เป็นภาพยนตร์ที่คิดโจทย์และเขียนบทร้อยเรียงเรื่องราวได้น่าติดตาม สนุก และนำเสนอประเด็นได้ดีมากๆ" - ธิดา ผลิตผลการพิมพ์


"งดงาม! เนื้อเรื่องน่าติดตามและมีประเด็นที่ชวนพูดคุย" - ดร.พิริยะ อุไรวงศ์


Special Mention พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท

OLD TIMES กำกับโดย Chaela Tordilo

Jury statements:

"ประเด็นที่หนังนำเสนอเป็นประเด็นที่จริงจังและชวนเศร้า หนังเลือกจะนำเสนออย่างกระชับเรียบง่าย แต่ก็สามารถทำให้คนดูเข้าใจและเข้าถึงประเด็นได้สำเร็จ" - ธิดา ผลิตผลการพิมพ์


"ประณีต ไร้ที่ติ เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์" - ดร.พิริยะ อุไรวงศ์


 

JURY AWARD: DOCUMENTARY

Grand Jury Prize พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท

MIWATARI กำกับโดย Yusuke Ono

Jury statements:

"MIWATARI เป็นภาพยนตร์ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกๆด้าน ทั้งงานโปรดักชั่น วิธีคิด และการนำเสนอ ขณะที่ประเด็นซึ่งถูกเลือกมาแม้จะมีความเฉพาะตัวทั้งในด้านเงื่อนไขของปัญหาและบริบทด้านพื้นที่ แต่หนังได้ซับเจ็กต์และข้อมูลที่หนักแน่นน่าสนใจมากๆ จนสามารถทำให้คนดูรู้สึกตามและเชื่อมโยงกับปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นได้เป็นอย่างดี" - ธิดา ผลิตผลการพิมพ์


"เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ เรื่องราวในหนังสั้นเรื่องนี้ถูกถักทอเข้าด้วยกันอย่างบรรจง ผสมผสานข้อเท็จจริงและความเชื่อ ทำให้เกิดเป็นหนังสั้นที่พิเศษมากๆ" - ดร.พิริยะ อุไรวงศ์


Jury Prize พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท

คนหลังเขา (CORDILLERA SONGS) กำกับโดย อิสรีย์ อรุณประเสริฐ Jury statements:

"คำถามที่เป็นโจทย์หลักของหนังเรื่องนี้ถูกเลือกมาได้อย่างดีและทำงานกับคนดูโดยเฉพาะคนเมืองที่อยู่ห่างไกลปัญหาได้ดีมาก และวิธีการนำเสนอหนังเลือกก็น่าสนใจเพราะเป็นการใช้การบันทึกภาพความจริงแบบสังเกตการณ์เพื่อที่จะเชื้อเชิญและท้าทายให้คนดูได้ค้นพบคำตอบด้วยตาของตนเอง" - ธิดา ผลิตผลการพิมพ์


"น้อยแต่มาก หนังสั้นเรื่องนี้เป็นผลงานที่ละเอียดอ่อนแต่ทรงพลัง ภาพดูดิบสวยงามแต่ลึกซึ้งกินใจ" - ดร.พิริยะ อุไรวงศ์


Special Mention พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท

THE WHOPPER (โกหกคำโต) กำกับโดย วีระพรรณ ถาวร Jury statements:

"ในแง่ของการเป็นสารคดีบันทึกการต่อสู้และความขัดแย้งที่เกี่ยวโยงถึงการเมือง หนังเรื่องนี้สามารถทำได้ดีมากๆ เพราะภายในเวลาที่ไม่ยาวนานนั้น เราคนดูจะทั้งเข้าใจที่มาของปัญหา สภาพความเร่งด่วนร้ายแรงที่เป็นอยู่ รวมทั้งเกิดความรู้สึกร่วมไปกับการต่อสู้ของชาวบ้านได้ไม่ยาก ความรู้สึกที่ได้หลังจากดูหนังจบคือการตระหนักว่าปัญหานี้ไม่ใช่สิ่งที่จะรอช้าได้อีกต่อไป ซึ่งในแง่นี้ย่อมถือว่าหนังบรรลุจุดประสงค์ที่ควรเป็นได้อย่างงดงาม" - ธิดา ผลิตผลการพิมพ์


"สารคดีเรื่องนี้มีโทนที่จริงจังและทรงพลังมากๆ หนังตั้งคำถามที่น่าสนใจที่เราทุกคนต้องการคำตอบ" - ดร.พิริยะ อุไรวงศ์


เกี่ยวกับเทศกาล CCCL

เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2562 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่และชุมชนในประเทศไทยและต่างประเทศได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชนแรงบันดาลใจ พลังร่วม หรือนวัตกรรมในการรับมือต่อวิกฤตินี้ ทางเทศกาลฯ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปี เช่น การประกวดหนังสั้นประจำปี ฉายหนังร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดอบรมการเล่าเรื่องผ่านหนังสั้น เสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาพยนตร์ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้เยาวชนและสังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการรับมือต่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คนทำหนังรุ่นใหม่จากประเทศไทยและอาเซียนสามารถส่งโครงการทุกประเภทเข้าชิงทุนทำหนังสั้นที่มีความเชื่อมโยงกับวิกฤติโลกรวนได้ทุกปี ช่วงหลังเทศกาลฯ ใหญ่ประจำปี

bottom of page