top of page

Monday Movie Club: Air Conditioner

อัปเดตเมื่อ 25 ก.ย. 2564

Air Conditioner หนังฟิคชั่นเรื่องแรกของผู้กำกับชาวแองโกลา ฟราดิก หรือ มาริโอ บาสโตส (Fradique, Mário Bastos) ที่เล่าความทรงจำและความรู้สึกต่อประเทศบ้านเกิดของเขาด้วยท่วงทำนองที่เหมือนฝัน เหมือนจริง


Air Conditioner เล่าเรื่องราวช่วงสั้นๆ ของ มาตาเซโด (Matacedo) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและซาซินญา (Zazinha) แม่บ้าน ทั้งสองทำงานอยู่ในลูอันดา (Luanda) เมืองหลวงของประเทศแองโกลาซึ่งเต็มไปด้วยตึกที่อยู่อาศัยสภาพเก่าทรุดโทรม แต่หากมองจากด้านนอกของตึกก็จะเห็นคอมเพรสเซอร์แอร์แปะอยู่เต็มไปหมดเหมือนกับตาสัปปะรด

เหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้น คือ เครื่องปรับอากาศบนตึกสูงทยอยร่วงลงมาทับคนบาดเจ็บและตายรายวัน มาตาเซโดและซาซินญาต้องจัดการเอาเครื่องปรับอากาศของเจ้านายไปซ่อมโดยด่วน เจ้านายหัวร้อนดูจะรักและบูชาเครื่องปรับอากาศมากจึงรีบสั่งทั้งสองให้เอาไปซ่อมก่อนที่มันจะหล่นลงมา “ของใครจะหล่นก็ได้ แต่ของฉันห้ามหล่นเด็ดขาด!”


มาตาเซโดเอาเครื่องปรับอากาศไปซ่อมที่ร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าของมิโน (Mino) ผู้ที่ขึ้นชื่อเรื่องซ่อมไม่เคยเสร็จและเก็บชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าไว้มากมาย มาตาเซโดและซิซินญาจึงต้องไปตามทวงให้แล้วเสร็จและเผลอไปเห็นห้องลับของมิโนเข้า ห้องลับที่พามาตาเซโดไปท่องเที่ยวชั่วขณะ

เสียงที่มักสอดแทรกเข้ามาตลอดทั้งเรื่องคือเสียงวิทยุรายงานข่าวเรื่องเครื่องปรับอากาศที่หล่นลงมาจากตึกซึ่งดูเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ มีคนเสนอให้ถอนรัฐบาลออกทั้งชุดเพื่อแก้ปัญหานี้ มีคนบอกให้ถอดเครื่องปรับอากาศออกให้หมด ถ้าจะติด ให้ติดไว้ที่พื้น และมีคนเสนอให้ทำนโยบายเคหะแห่งชาติที่มันเหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศแทน นอกจากรายงานข่าวเรื่องนี้แล้ว ยังมีเรื่องคนจำนวนมากที่เสียชีวิตจากความร้อนแม้จะเป็นช่วงที่อากาศเย็นที่สุดของปีก็ตาม


เรื่องแอร์ร่วงพิศวงในหนังชวนให้เรานึกถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร?

ประเทศแองโกลาเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาและเมืองหลวง ลูอันดา ยังติดอันดับเมืองที่แพงที่สุดสำหรับต่างชาติที่อาศัยอยู่ที่นั่นอีกด้วย

แองโกลามีแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุและน้ำมันมากซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้หรือเป้นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ นั้นก็นำเข้าจากต่างประเทศแทบจะทั้งหมด แน่นอนว่าเครื่องปรับอากาศก็เป็นหนึ่งในนั้น การนำเข้าสินค้าเป็นหลักจึงเป็นสาเหตุให้สินค้าราคาแพงมาก ขณะที่ประเทศร่ำรวยด้วยการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นแป็นแหล่งหารายได้นั้น ประชากรส่วนมากในประเทศยังคงใช้ชีวิตอยู่กับความยากจนและโรคภัย แม้กระทั่งคนในเมืองอย่างที่เห็นได้จากในหนังที่บ่งบอกว่าค่าแรงมันแสนน้อยนิด มีคนแย่งงานกัน แย่งชิ้นส่วนแอร์ที่ตกลงมา ส่วนมาตาเซโดก็เป็น รปภ. ที่ทำทุกอย่างตั้งแต่ซ่อมนู่นนี่ ส่งแก็ส ซื้อของ และทิ้งขยะ นอกจากนี้ เรื่องภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปหลังจากการพัฒนาอันก้าวกระโดดนี้ยังถูกสะท้อนให้เห็นผ่านบนสนทนาในหนังด้วย โดยเฉพาะซาซินญาที่ถวิลหาเมืองบ้านเกิดติดทะเลบ่อยๆ เธอนึกถึงลมที่เป็นอากาศจริงๆ ที่พัดมากระทบหน้าของเธอ ไม่ใช่ลมที่ต้องกดเปิดสวิตช์ให้ออกมาจากเครื่องปรับอากาศ ส่วนมาตาเซโดและมิโนก็ต่างพยายามใช้ชีวิตไปกับความจริงที่อยู่ตรงหน้า แม้จะดูเหมือนว่าไม่พอใจและยอมรับมันอย่างแท้จริงไม่ได้


สิ่งที่หนังชวนให้คิดตั้งแต่ต้นเรื่องคือ อากาศ (Air) และ ผู้สร้างเงื่อนไข (Conditioner) ใครคือผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดอากาศที่เราหายใจอยู่ทุกวัน?

แม้หนังจะเล่าเรื่องราวของตัวละครมาตาเซโดเป็นหลัก แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและผลกระทบของมันนั้นสะท้อนให้เห็นในทั้งระดับใกล้ตัวมากอย่างเรื่องอากาศที่ร้อนขึ้น และในระดับที่กว้างไปกว่านั้นอย่างเรื่องประวัติศาสตร์ โครงสร้างระบบเศรษฐกิจ และการเมืองที่ต่างก็ผูกโยงกันเข้ามาและกลายเป็นผลกระทบต่อชีวิตมาตาเซโด ผู้คนในเมืองลูอันดา และประเทศแองโกลาด้วย การวางเงื่อนไขที่สมดุลและเป็นธรรมต่อคนทุกกลุ่มและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่เป็นเรื่องสำคัญกับทุกชีวิต


ท้ายสุดแล้วเครื่องปรับอากาศจะซ่อมได้ไหม? มันจะหยุดร่วงลงมาหรือเปล่า? อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเครื่องปรับอากาศมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความทรงจำของผู้คนที่มีต่อตนเองและพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่อย่างไร?


ค้นหาคำตอบได้ทาง MUBI

คัดสรรและเรียบเรียงโดย ธาร ธารตาวัน

CCCL Team Coordinator

Comments


bottom of page