top of page
รูปภาพนักเขียนNakorn Chaisri

ถอดบทเรียนจากกิจกรรม "Roundtable" เสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง

อัปเดตเมื่อ 25 ธ.ค. 2564

ในกิจกรรมเสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงในช่วงเช้าวันที่ 11 ธันวาคม 2564 ที่โครงการพาโนรามาแม่โขง จ.อุบลราชธานี ในกิจกรรมนี้ เราได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่านเข้าร่วมบรรยายผลกระทบในพื้นที่แม่น้ำโขงและชีวิตของผู้คนในพื้นที่แม่น้ำโขงที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป


วิทยากรทั้ง 3 ท่านได้แก่

🌿ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมและแม่น้ำโขงมานานกว่าสามสิบปี

🌿 คุณอ้อมบุญ ทิพย์สุนา เลขาธิการสภาเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มนี้โขง 7 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงและผู้เคลื่อนไหวประเด็นแม่น้ำโขง

🌿รองศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัชอุบลราชธานี และประธานศูนย์วิจัยสังคมอนุภาค คณะศิลปศาสตร์ (ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับแม่น้ำโขง)


ดำเนินบทสนทนาโดยคุณบุษกร สุริยสาร ที่ปรึกษาโครงการหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน

 

ประเด็นหลัก

 


เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการพูดถึงความเป็นมาของชีวิตในลุ่มน้ำโขง พัฒนาการของของแม่น้ำโขงในอดีตและปัจจุบัน โดย ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ


“อาหารจากแม่น้ำเป็นโปรตีนราคาถูก หรือเป็นอาหารฟรี แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว” คือประโยคเปิดของ ดร.ไชยณรงค์ ก่อนจะเล่าถึงต้นสายปลายเหตุของเรื่องราวผ่านมิติทางภูมิศาสตร์กายภาพและภูมิศาสตร์การเมือง

ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่าเมื่อพูดถึงแม่น้ำโขง มันคือแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ความยาวประมาณ 4,990 กิโลเมตร) แม่น้ำโขงมีจุดกำเนิดที่เทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านทิเบต จีน พรมแดนระหว่างลาวกับพม่าเป็นระยะสั้นๆ ผ่านพรมแดนไทยลาว เชียงดาว เชียงแสน เชียงของ และวกเข้าไปในลาว (หลวงพระบาง) และกลับเข้ามาที่เชียงคานจังหวัดเลย จนมาถึงอุบล


สภาพแม่น้ำโขงในส่วนด้านบนนี้ มีสภาพที่เป็นแก่งหินเยอะ หลังจากเชียงแสนลงมา แม่น้ำก็เริ่มราบเรียบและสลับด้วยแก่ง ตรงนี้ระบบนิเวศเริ่มมีความซับซ้อน มีป่าริมน้ำ มีหาด จนเมื่อมาถึงหลวงพระบาง ช่วงที่ไหลผ่านพรมแดนไทยลาวที่เชียงคาน ระบบนิเวศนอกจากแก่งก็จะมีต้นไคร้น้ำ พอมาถึงที่ลาวระบบนิเวศก็ซับซ้อนมาก มีแก่งที่ใหญ่และมีน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือน้ำตกคอนพะเพ็ง


น้ำโขงที่ไหลมาบริเวณกัมพูชาและลาวจะมีลักษณะกว้าง หลังจากกัมพูชาก็ลงไปเวียดนาม มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม เป็นทุ่งกว้างสลับด้วยผืนป่า แม่น้ำไหลแยกออกเป็นแปดสายก่อนลงทะเลจีนใต้ แม่น้ำโขงในแต่ละประเทศก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป

นอกจากนี้ก็มีแม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำโขง เช่น แม่น้ำมูล ลำน้ำสาขาใหญ่ๆ ก็จะอยู่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ และแม่น้ำที่ไหลมาจากฝั่งลาวและเวียดนาม แม่น้ำสายนี้ในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีความหลากหลายมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มี พันธุ์ปลาหลายร้อยชนิดอาศัยในแม่น้ำนี้และยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เรายังไม่พบ หรือสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ที่เราเพิ่งค้นพบปรากฏขึ้นเรื่อยๆ เช่น ตะพาบน้ำ


ในแง่ของประวัติศาสตร์ แบ่งได้เป็นสามช่วง

ช่วงแรกสุด ช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองดินแดนแถบนี้เป็นอาณานิคม มีการพยายามทำให้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางเดินเรือเพื่อการค้าและพยายามที่จะเดินทางเข้าไปถึงจีนด้วย มีการระเบิดแก่งที่หลี่ผี คอนพะเพ็งแต่ทำไม่สำเร็จจึงสร้างเป็นทางรถไฟแทนเพื่อขนสินค้าจากเรือที่จอดบริเวณฝั่งกัมพูชา


ยุคต่อมาคือยุคสงครามเย็น เป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงถูกแบ่งให้เป็นสองส่วน คือ Upper Mekong หรือแม่โขงตอนบน จากจีนลงมาถึงสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งพื้นที่ส่วนมากคืออยู่ในเมืองจีน ในส่วนของ Lower Mekong หรือแม่โขงตอนล่าง คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีองค์กรที่ถูกจัดขึ้นมาคือ Mekong Committee ที่พยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนา และการพัฒนาสำคัญที่สุดที่ถูกผลักดันคือการสร้างเขื่อน มีการวางแผนสร้างเขื่อนมากมายในยุคนี้ และหลายโปรเจกต์ก็ตกทอดมายังปัจจุบัน เช่น เขื่อนปากมูล


ยุคที่สาม หลังสงครามเย็น เป็นยุคที่สำคัญมาก ส่วนแรกคือเรื่องของจีน จีนมีนโยบายที่พยายามพัฒนาตะวันตกเฉียงใต้ให้เป็นอุตสาหกรรม ซึ่งพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มชาติพันธุ์ เหมือนกับการนำมาจัดเป็นสวนดอกไม้ เอาคนและวัฒนธรรมมาขาย นอกจากนี้ยังมีโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เพราะต้องการทำเป็นสายพานขนส่งสินค้า หลังจากที่เกิดการระเบิดแก่ง คนอีสานก็ได้กินส้มลูกเล็กๆ ภายในสองวัน โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เขื่อนพวกนี้มีผลกระทบตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีสองอย่างหลักๆ ฤดูฝนจีนปล่อยน้ำลงมา ด้านล่างก็เกิดน้ำท่วม ไม่ใช่แค่เชียงแสน แต่ท่วมมาถึงโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีเลย พอฤดูแล้ง ก็เกิดการกักน้ำ เรือสินค้าเล็กๆ หรือเรือท่องเที่ยวจากเชียงของมาหลวงพระบาง ไม่สามารถเดินทางได้ ส่วนที่สองคือการสร้างเขื่อนซึ่งเกิดจากทุนไทย หลังปี 2530 การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในไทยทำได้ยากมาก ถูกต่อต้านทุกพื้นที่ จนมีนโยบายของทางการไทยก็มีเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า


เวลาพูดถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เราพูดได้สามส่วน ส่วนที่หนึ่ง การกั้นแม่น้ำสาขา บทเรียนจากปากมูล ส่วนที่สอง เขื่อนจีน เวลาเราพูดเรื่องเขื่อนปัจจุบันจะมุ่งไปที่เขื่อนจีนเป็นหลัก แต่เราลืมว่า มีส่วนที่สามคือ เขื่อนไทย เขื่อนไทยสัญชาติลาว (ทุนไทยไปลงทุน) และยังมีทุนจีนไปลงทุนอีก เป็นต้น


ทุกวันนี้ความคิดของเรื่องการสร้างเขื่อนมันควรหมดไปแล้ว ประเทศตกวันตกส่วนมากรื้อความคิดนี้ทิ้งหมดแล้ว แต่มันก็ยังสืบทอดในรัฐราชการในประเทศลุ่มนี้โขงนี้อยู่

พูดถึงในมิติของคน ผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง ในช่วงที่ผ่านมาและในปัจจุบันเป็นอย่างไร ฟังประสบการณ์และเรื่องราวจากคุณอ้อมบุญ แม่ค้าลุ่มน้ำโขงและนักรณรงค์


สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีสมาชิกเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนใน 7 จังหวัดภาคอีสาน คุณอ้อมบุญนอกจากจะเป็นเลขาธิการของสมาคมฯ แล้วยังเป็นแม่ค้าในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงด้วย สิ่งที่สังเกตได้ตอนนี้คือช่วงหน้าฝน น้ำไม่ค่อยขึ้น พี่น้องชาวบ้านก็จะรู้ว่าต้องปรับตัวอย่างไรในช่วงหน้าฝน ส่วนช่วงหน้าแล้ง น้ำก็ค่อยๆ ลง ชาวบ้านก้เริ่มปลูกผักเป็นขั้นบันไดกันและเป็นช่วงที่มีปลาหลากชนิด ชาวบ้านจะมีประเพณีที่เกี่ยวกับสายน้ำตลอดทั้งปี


คุณอ้อมบุญเล่าว่าวันหนึ่งในช่วงสงกรานต์ก็ไปตั้งร้านขายของ ขายอาหาร ส้มตำไก่ย่าง ปลาเผา อยู่ๆ น้ำก็ท่วมในวันสงกรานต์ โดยปกติถ้าขายของหนึ่งเดือนช่วงแม่น้ำโขงลด มีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่าแสน

เมื่อเกิดน้ำท่วมแบบนั้นขึ้น เลยทำให้ลงทุนไม่ไหวแล้ว ปีที่สองก็ไปตั้งร้าน ก็ท่วมอีก ปีที่สามต้องปรับร้านใหม่ให้มันสูงขึ้น ลงทุนในการทำร้านมากขึ้น ราคาอาหารก็ต้องเพิ่มขึ้น ต่อมาก็ต้องผลักภาระไปให้ลูกค้าอีก


“ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวโยงกับแม่น้ำไปหายไป แต่ผู้คนและวิถีชีวิตก็หายไปด้วย เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้น”

ประวัติศาสตร์ฉบับชาวแม่น้ำโขง

ถ้าลองมองช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์แบบที่อาจารย์ไชยณรงค์พูดถึง ชาวแม่น้ำโขงจะจดจำเรื่องราวของแม่น้ำโขงได้สามช่วง ช่วงแรกคือช่วงก่อนมีเขื่อน ช่วงสองคือช่วงที่มีเขื่อนจีน เขื่อนแรกในจีนเกิดขึ้นเมื่อปี 2536 แม่น้ำโขงก็จะผันผวนมาก สามวันห้าวัน จนถึงปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่สาม แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงรายวัน และตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ก็ขึ้นลงรายวันมาเสมอ เป็นผลโดยตรงจากเขื่อนไซยะบุรี อาจารย์ไชยณรงค์เสริมขึ้นว่า “เผลอๆ ขึ้นลงเป็นรายชั่วโมงเลย”


“ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน โขงสีคราม”

วาทกรรม “ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน โขงสีคราม”

การที่มันผันผวนแบบนี้มันทำให้เราวางแผนอะไรไม่ได้เลย จนมีวาทกรรมที่เราสรุปกันว่า “ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน โขงสีคราม” ทำไมถึงกล่าวอย่างนั้น? มีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่ห่างจากตัวอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยไปประมาณ 300 กิโลเมตร น้ำขึ้นเช้าลงเย็น มีการปั่นไฟสัปดาห์ละหกวัน วันหนึ่งอย่างน้อยแปดชั่วโมง เพื่อส่งไฟขายให้ไทย เราก็พยายามเรียนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขง และได้เรียนรู้จากนักวิชาการด้านการประมงว่าระบบอุทกวิทยาของน้ำแบบนี้มันส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต ต่อทรัพยากรจากน้ำในแม่น้ำโขงอย่างมาก ธรรมชาติของปลาเวลาถึงฤดูกาลอพยพ น้ำขึ้น เขาก็จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปด้านบน พอมันเกิดการขึ้นลงรายวัน ปลาก็หลงฤดู กลุ่มปลาที่ต้องมาวางไข่ตามฤดูก็ไม่มีเหมือนเคย เพราะฉะนั้น การที่ปลาจากเป็นพันชนิดเหลืออยู่ไม่ถึงสี่ห้าร้อยชนิดมันก็เกิดจากตรงนี้ด้วย แล้วในคืนวันที่เปิดเขื่อนนั้น น้ำลดลงทันที 4 เมตร ปลาก็น็อกน้ำ มันส่งผลเร็วและชัดเจนมากกว่าเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่นั่นคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ เมื่อเราได้ไปศึกษาการสร้างเขื่อนแต่ละที่ สิ่งที่หายไปกับการได้มาของพลังงานไฟฟ้าคือป่าไม้ ที่หายไปทั้งแถบ



ผลกระทบจากเขื่อนต่อระบบนิเวศที่ผันผวนนั้นเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ต้นไคร้น้ำที่นอกจากจะถือกันว่าเป็นราชินีแม่น้ำโขงแล้ว ยังถือว่าเป็นแมวเก้าชีวิตของพี่น้องแม่น้ำโขง คือทำอย่างไรก็ไม่ตาย น้ำขึ้นน้ำลงก็ปรับตัวได้ แต่พอมันขึ้นลงรายวัน แมวเก้าชีวิตนี้ปรับตัวไม่ได้

ต้นไม้เหล่านี้ตาย พอมันตาย นอกจากปัญหาตัดต้นไม้เพื่อสร้างเขื่อนแล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็ซ้อนทับปัญหา ทำให้มันสะสมและหมักหมมมากยิ่งขี้นอีก ทรัพยากรสัตว์น้ำที่หายไปที่ไม่ได้มีแค่ปลา แต่รวมถึงหอย 200 กว่าชนิด และกุ้งไม่ต่ำกว่า 80 ชนิดด้วย เรื่องราวเหล่านี้มันทับซ้อนและซับซ้อนกันไปหมด


นักวิชาการกล่าวกันว่าเขื่อนชะนะครามและเขื่อนภูงอยอาจจะเป็นจุดอวสานของแม่น้ำโขง

เพราะมันปิดกั้นการอพยพสำคัญของปลาตลอดสายแม่น้ำโขง จากโตนเลสาบขึ้นมา


อะไรที่เราต้องแลกมากับพลังงานไฟฟ้าที่ได้

เหมือนกันกับเรื่อง GMO ที่เราได้ดูสารคดีในการถกเถียงเรื่องนี้กันไป ในเรื่องเขื่อนก็มีการถกเถียงกันว่าใครเอาหรือไม่เอาเขื่อน และเบื้องหลังของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีพวกนี้คืออะไรที่เราต้องเสียไป อย่างเรื่องเขื่อนอะไรที่เราต้องแลกมากับพลังงานไฟฟ้าที่ได้


ไฟฟ้าสำรองของประเทศไทย กฏหมายกำหนด 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ไทยเองตอนนี้มี 50 เปอร์เซ็น ต้องซื้อขายไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านมาเรื่อยๆ สายส่งผ่านประเทศไทยเพื่อที่จะขายไฟฟ้าไปยังสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนลาวประกาศตัวเป็น battery of Asia ไทยเองก็ประกาศจะเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายไฟฟ้า


บิลค่าไฟ ต้นทุนในการผลิต ถูกผลักภาระมาให้ผู้บริโภคพวกเราทุกคน ในขณะที่วิถีชีวิตของพวกเรา ของคนตัวเล็กตัวน้อยหายไป ไม่มีใครเห็น

สายส่งต่างๆ เหล่านี้ก็ผ่านมาที่ไทยเช่นกัน วิถีชีวิตของแม่ค้าที่หายไปจากแม่น้ำโขง ช่วงสงกรานต์ไม่ได้ขายของ มีคนประชดว่าก็เลื่อนงานช่วงสงกรานต์ไปเดือนตุลาคม แล้วก็ยกเลิกงานลอยกระทงมาทำช่วงสงกรานต์สิ ในเมื่อน้ำมันท่วมหน้าแล้งแห้งหน้าฝน ฤดูกาลท่องเที่ยวหายไปหมด เห็นน้ำเป็นน้ำ ไม่เห็นต้นไคร้น้ำเป็นบ้านปลาแล้ว เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปมันซับซ้อนมาก เรื่องที่พวกเราจะสื่อสารผ่านหนังสั้น ไม่ว่าจะเรื่องไคร้ที่หายไป เรื่องพญานาค เรื่องการหายไปของแรงงานพวกเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น เรื่องที่อยากเน้นให้เห็นชัดๆ ก็คือว่าการสู้เรื่องของ GMO จากหนัง (เรื่อง FOOD EVOLUTION ที่ฉายในช่วงค่ำคืนแรกของโครงการ) เหมือนเรื่องแม่น้ำโขงเลย ภายใต้บิลค่าไฟ ต้นทุนในการผลิต ถูกผลักภาระมาให้ผู้บริโภคพวกเราทุกคน ในขณะที่วิถีชีวิตของพวกเรา ของคนตัวเล็กตัวน้อยหายไป ไม่มีใครเห็น จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศการเปลี่ยนแปลงที่มันกระชากจากการสร้างเขื่อน พวกเราไม่มีตัวตนเลย เพราะฉะนั้นตัวละครเอกที่อยากฝากไว้คือวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ ให้คนข้างนอกได้เห็นด้วยว่า ภายใต้บิลค่าไฟ ภายใต้วิถีชีวิตที่ล้มหายตายจาก อาชีพที่เคยมี ความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงามของแม่น้ำโขง มันหายไปเพราะเรื่องราวเหล่านี้



จากการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติที่พูดคุยกันมา ชีวิตความเป็นอยู่ของคนปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

“อาจารย์คิดว่าหนังมันน่าจะมีทางออกให้ด้วย น่าจะเป็นทางออกอะไรบางอย่าง ไม่เพียงแค่เล่าเรื่องอย่างเดียว เราชี้ประเด็นอะไรที่อยากให้สังคมสาธารณะได้รับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับวิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำโขงมันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร”

ดร.กนกวรรณ ได้สรุปสามประเด็นถึงต้นเหตุ ผลกระทบ และทางออก ในเรื่องผลกระทบต่อการผันผวนของแม่น้ำโขง


ประเทศไทยเสี่ยงอันดับเก้าของโลกที่จะเกิดน้ำท่วม อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนคือมาจากภาคพลังงานและการขนส่ง พลังงานที่ได้มาจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และที่สำคัญ พลังงานจากเขื่อน ซึ่งมีคนบอกว่ามันเป็นพลังงานสะอาด นักสร้างเขื่อนก็ถกเถียงกันว่าพลังงานจากน้ำมันเป็นพลังงานหมุนเวียนและสะอาด แต่หารู้ไหมว่าในกระบวนการสร้างเขื่อนนั้น ป่าไม้โดนทำลาย ปูนซีเมนหนึ่งล้านตันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.25 ล้านตัน ปูนซีเมนมหาศาลถูกผลิตขึ้นมาซึ่งเป็นแปล่งที่ปล่อยคาร์บอนได้ดีที่สุด ป่าที่ถูกทำลาย สัตว์น้ำ ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบโดยตรงกับมนุษย์เลย


นอกจากนี้ กระบวนการปั่นไฟก็ปล่อยก๊าซขึ้นไปอีกเช่นกัน ซึ่งเกิดผลกระทบต่อภาคเกษตรแน่นอน คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ต้องปลูกข้าว มันสำปะหลัง อ้อย พืชหลักสามชนิดนี้ที่โดนผลกระทบอย่างรุนแรงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงคนปลูกข้าวก็ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้


เมื่อสักครู่ได้คุยกับคุณอ้อมบุญว่าวิถีชีวิตที่พึ่งพาแม่น้ำโขงกับป่าในแม่น้ำโขงมีกี่รูปแบบ ชาวบ้านที่ได้ไปสัมภาษณ์ตอบมาอย่างน้อย 18 อย่าง ซึ่งเรานึกไม่ถึง เราทำงานวิจัยแต่มองข้ามหลายๆอย่าง

กลุ่มชาวบ้าน กลุ่มแม่ค้า แต่ละกลุ่มก็มีการพึ่งพาแม่น้ำอย่างแตกต่างกัน และการนิยามแม่น้ำของคนกลุ่มต่างๆ ก็ไม่เหมือนกันด้วย ถ้าเราลองถามแต่ละกลุ่ม เขาจะอธิบายและนิยายแม่น้ำต่างกันไป มีชื่อเรียกที่ต่างกันไปด้วย



ดร.กนกวรรณได้มีโอกาสไปลงพื้นที่ในลาวและได้สัมภาษณ์ชาวบรูซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ทำนาด้านล่าง เป็นกลุ่มคนบนพื้นที่สูง แต่กลับได้รับผลกระทบเพราะน้ำทะลักเข้าไปในแม่น้ำสาขา พวกเขาจึงถูกย้ายไป มีถูกส่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วยบ้าง พวกเขาไม่มีทางเลือก ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นจากการสร้างเขื่อน

ในส่วนของกลุ่มผู้หญิง กลุ่มคนที่ใช้พื้นที่ชุ่มน้ำ ผู้หญิงจำนวนมากเก็บฟืน หาสัตว์น้ำตามธรรมชาติ

พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เปราะบางมาก พร้อมที่จะสูญหายจากการถูกท่วมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะถ้าท่วมริมฝั่งแม่น้ำโขงเมื่อไหร่ หายไปหมดเลย


เมื่อแม่น้ำถูกทำให้ไหลอย่างไม่ธรรมชาติด้วยการถูกบังคับและควบคุม จึงทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปตามการควบคุมของแม่น้ำจากเขื่อน เขื่อนก็ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซ้ำเติมไปอีก มันมีเหตุและผลต่อเนื่องกัน


ในทางสังคมเอง เราก็ต้องรณรงค์ ต้องสื่อสารต่อสาธารณะ เราจะทำอย่างไรเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงจะเข้าถึงคน

แล้วประเด็นสุดท้าย ทางออกคืออะไร? นักเศรษฐศาสตร์ก็บอกให้ใช้มิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น สร้างภาษี ให้เกิดการสร้างแรงจูงใจ ไปลงทุนกับพลังงานอื่น เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ มันจะสร้างแรงจูงใจและให้คนมาลงทุนกับสิ่งนี้ ถ้าทำให้มันเข้าถึงได้ง่าย


หรือในมิติกฏหมาย คุณก็มี พรบ. ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการใช้หรือให้แรงจูงใจกับภาคเอกชนในการที่จะพูดเรื่อง NET ZERO เป็นต้น


และในทางสังคมเอง เราก็ต้องรณรงค์ ต้องสื่อสารต่อสาธารณะ เราจะทำอย่างไรเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงจะเข้าถึงคน แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องใกล้ชิดเรามาก มันสัมผัสได้และกำลังเกิดขึ้นจริง ถ้าเราให้ความจริงและข้อมูลกับสาธารณะได้ คนในสังคมก็จะมองว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น อาจารย์ก็หวังว่าหนังจะเป็นอีกหนึ่งในแรงขับเคลื่อนในการการสื่อสารได้


 

ช่วงถาม-ตอบ (Q&A)


1. จากที่คุณอ้อมบุญพูดถึงว่าแม่น้ำโขงจะหายไป อยากจะวิทยากรช่วยแชร์และขยายความตรงนี้มากขึ้นได้ไหมว่าภายในอีกกี่ปีแม่น้ำโขงจะหายไป มันจะแห้งไปหรือแคบลง และมันมีปัจจัยอะไรบ้าง?


อาจารย์ไชยณรงค์

แม่โขงตั้งอยู่ในเขตมรสุม ปัญหาที่จะเจอคือ หน้าฝนมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนและจะเกิดอุทกภัยที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ท่วมแบบฉับพลัน ถ้าเราสังเกตในลาว ตอนเหนือของลาวปีนี้ก็หนักและหนักขึ้นทุกที ไม่ใช่ว่าน้ำโขงจะแห้ง แต่จะเกิดอุทกภัยที่เราไม่คาดคิดมาก่อน


อย่างที่สองคือ มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความแห้งแล้งที่รุนแรง ไม่เกิดการปล่อยน้ำลงมาเพราะเก็บไว้ผลิตกระแสไฟฟ้า ปัญหาใหญ่มากก็คือเมื่อน้ำโขงแห้ง ท้องน้ำโขงมันลึกที่สุด มันจึงจะดึงแม่น้ำสาขาลงไป และตรงจุดนี้แหละที่ความแห้งแล้งที่จะตามมาเพราะเมื่อดึงน้ำสาขาบริเวณอีสานที่ใต้ดินเต็มไปด้วยเกลือลงมาแล้ว น้ำจะเค็มผิดปกติ และการเกษตรจะล้มเหลวไปหมด


คนที่ใช้ชีวิตบนเกาะแม่น้ำโขงจะสามารถปลูกข้าวได้ก็ต่อเมื่อแม่น้ำโขงหนุนเต็มที่ ถ้าไม่อย่างนั้นจะทำนาไม่ได้เพราะไม่มีน้ำเพียงพอ ตอนนี้มีเขื่อนไซยะบุรีกักน้ำหน้าฝน เกาะต่างๆ ดอนต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวของชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรได้ คำถามนี้อาจจะตอบไม่ได้ว่ากี่ปี แต่มันจะเกิดสองสิ่งนี้คือไม่เกิดอุทกภัยก็ความแห้งแล้ง สลับกันแบบนี้



อาจารย์กนกวรรณ

จากสถิติ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดอุทกภัยกว่า 140 ครั้ง ท่วมและท่วมแบบผิดธรรมชาติ เกิดความเสียหายที่รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากในการซ่อม สร้างและชดเชย

แม่น้ำโขงคงจะไม่หายไป แต่จะไม่เหมือนเดิม มันจะผิดธรรมชาติไป เพรามันถูกควบคุมและจัดการโดยกระบวนการสร้างเขื่อน นี่คือประเด็นที่หนึ่ง


ประเด็นที่สอง ดูจากสถิติ ไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยนั้นเกินความจำเป็น เรามี 7 หมื่นกว่า เมกะวัตต์ แต่ใช้จริงเพียง 4 หมื่นกว่าเมกะวัตต์ จริงๆ แล้วแค่ 5 หมื่นกว่าไว้เป็นไฟฟ้าสำรองก็พอแล้ว

การสร้างเขื่อนก็คือการเพิ่มผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง แล้วสิ่งที่ตามมาคือ คน ปลาหรือสัตว์น้ำต่างๆ พืชพรรณต่างๆ จะอยู่ได้อย่างไร นี่คือคำถามที่สำคัญมาก



2. ฟังดูแล้วเรื่องแม่น้ำโขงมันซับซ้อนและเชื่อมโยงกับหลายปัจจัยมาก ทั้งเรื่องสังคม การเมือง อำนาจต่างๆ ในส่วนของภาคประชาชน เราจะทำอะไรได้บ้าง?


คุณอ้อมบุญ

เครือข่ายฯ พยายามที่จะสื่อสารเรื่องนี้เพื่อที่จะให้พี่น้องชาวบ้านที่พึ่งพาแม่น้ำโขงได้เข้าใจเรื่องราว

การที่เรามาทำเครือข่ายกัน มันยากมากๆ ทำยังไงที่พี่น้องจะได้มีเวทีที่จะได้พุดคุยกัน เราก็ต้องพยายามประชุมพูดคุยกันผ่านซูมทุกสัปดาห์ในช่วงโควิด และมีเด็กเยาวชนที่เข้ามาช่วยใช้เครื่องไม้เครื่องมือของเขาในการสื่อสารข้อมูลไปยังสื่อกระแสหลัก


ดร.กนกวรรณ

ภาคประชาสังคมทำมันก็มีพลัง แต่จะทำโดยลำพังมันจะลำบาก ต้องอาศัยภาคอื่นๆ เช่น ภาควิชาการ และ ”รัฐที่เห็นใจประชาชน” ที่มองมุมมองการจัดการความมั่นคงอย่างยั่งยืน

คำว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) นั้นก็มีความหมายทางการเมืองด้วยเหมือนกัน มีการตีความไม่เหมือนกันด้วย อะไรคือความยั่งยืนในแม่น้ำโขง รัฐก็ตีความไปอีกอย่างหนึ่ง เช่นพลังงานหมุนเวียน ก็ไฟฟ้าไง แต่ภาคประชาชนตีความอีกแบบหนึ่ง งบประมาณให้ภาคประชาสังคมก็จำกัด NGO ทำงานลำบาก มันจึงมีความท้าทาย แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องจับมือทำงานด้วยในในภาคส่วนต่างๆ

ภาคประชาสังคมทำมันก็มีพลัง แต่จะทำโดยลำพังมันจะลำบาก ต้องอาศัยภาคอื่นๆ เช่น ภาควิชาการ และ ”รัฐที่เห็นใจประชาชน”

อาจารย์ไชยณรงค์

สิ่งที่ผมทำมีสองส่วน ผมให้ความสำคัญกับความรู้ท้องถิ่น ซึ่งมันถูกกดทับ ถ้าคุณใช้ความรู้ท้องถิ่นลงสนาม คุณจะเห็นอะไรเยอะแยะ เช่น ปลาบึก คนแถวนี้เขาไม่กินกันนะ จับปลาบึกได้ต้องบวชเจ็ดวัน ถ้าปลาบึกตายต้องทำงานศพให้เหมือนมนุษย์เลย ถ้าเราใช้เครื่องมือทางมานุษยวิทยาในการศึกษา มันจะช่วยให้เราได้เห็นอะไรมากมายเลย



 

กิจกรรม Roundtable: เสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพาโนรามาแม่โขง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2564 ที่จ.อุบลราชธานี


Comments


bottom of page