'มลพิษทางอากาศ' ปัญหาคู่ขนานกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
top of page

'มลพิษทางอากาศ' ปัญหาคู่ขนานกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อัปเดตเมื่อ 19 ก.ค. 2565

มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งของโลก จากข้อมูลของ IQAir ในเดือนเมษายนปี 2565 ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทยสูงกว่ามาตราฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ถึง 4 เท่า ทั้งนี้การสูดเข้าฝุ่นละออง PM 2.5 จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ เป็นต้น โดยในปี 2559 มีการประเมินผู้เสียชีวิตในประเทศไทยจากปัญหามลพิษทางอากาศมากกว่า 33,000 ราย โดยจังหวัดที่มีการค่าฝุ่น PM 2.5 ในระดับที่สูง ได้แก่ เชียงราย นครสวรรค์ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา อ้างอิงจากรายงานของ AQLI ในปีพ.ศ. 2563 นอกจากนี้ปัญหามลพิษทางอากาศยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญเกี่ยวกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอีกด้วย


ความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นปัญหาคู่ขนานที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากมลพิษในอากาศและก๊าซเรือนกระจกมีแหล่งกำเนิดเดียวกันคือ อุตสาหกรรมพลังงานถ่านหิน การขนส่งและคมนาคม การเผาไหม้เชื้อเพลิงและขยะ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า ยิ่งวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้นเท่าใด แนวโน้มความรุนแรงของมลพิษทางอากาศก็มีโอกาสสูงมากขึ้น ยกตัวอย่างสถานการณ์เช่น วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงอย่างไฟป่า ปัญหาไฟป่าส่งผลให้มลพิษในอากาศสูงขึ้น และเมื่อเกิดไฟป่า พื้นที่สีเขียวก็ลดลงและส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้มีการประกาศแนวทางการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2608 อย่างไรก็ตามเป้าหมายดังกล่าวจะต้องมีมาตราการการจัดการในภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสวัสดิการสาธารณสุขของประชาชน การจัดการดูแลให้ประชาชนเข้าถึงการคมนาคมและพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน และการจัดทำระบบตรวจสอบมลพิษทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น รัฐบาลยังต้องให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนผู้ใช้แรงงาน คนยากจนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมหรือพื้นที่เสี่ยงมลพิษทางอากาศมากกว่าปกติ รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่มีโอกาสได้รับฝุ่นและสารพิษจากมลพิษทางอากาศมากกว่าผู้ใหญ่

กระบวนการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศหรือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก ภาครัฐเองต้องแสดงบทบาทอย่างจริงจังในการกำหนดนโยบายและเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูวิกฤตสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน

มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนผ่านสื่อหนังสั้น เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักต่อวิกฤตครั้งนี้ ส่งผลงานและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ccclfilmfestival.com/submit

 

ที่มา

World Health Organization

Reuters

Air Quality Life Index


bottom of page