CCCL ประกาศรายชื่อผู้ชนะรางประกวดหนังสั้นในเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 2
top of page

CCCL ประกาศรายชื่อผู้ชนะรางประกวดหนังสั้นในเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 2

อัปเดตเมื่อ 8 ต.ค. 2565

21 กุมภาพันธ์ 2565 - กรุงเทพมหานคร — เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) ภายใต้มูลนิธิแสงประกาศผู้ชนะเลิศการประกวดหนังสั้นในเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 2 ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565


ในปีนี้เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยนต้อนรับผู้เข้าร่วมเทศกาลเกือบ 400 คน ตลอดการฉายโปรแกรมหนังสั้นทั้ง 3 โปรแกรม และงานประกาศรางวัลหนังสั้นในช่วงเย็น โดยเทศกาล CCCL ได้ประกาศรางวัลทั้งหมด 8 รางวัล ได้แก่ รางวัลขวัญใจผู้ชม (Audience Award), รางวัลขวัญใจยุวทูต CCCL (Youth Jury Award) ตัดสินโดยยุวทูตในโครงการ CCCL Student Ambassadors, รางวัลหนังสั้นที่ไม่ใช่สารคดี 3 รางวัล และรางวัลหนังสั้นสายสารคดี 3 รางวัล ตัดสินโดยคุณชญานิน เตียงพิทยากร (นักวิจารณ์ภาพยนตร์) คุณชลิดา เอื้อบํารุงจิต (ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์) และคุณเจษฎา สกุลคู (ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) เทศกาล CCCL ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะเลิศทุกทีมมา ณ ที่นี้


Audience Award

LIFE CYCLE

DIR. ปณิธาน บุญฑริก

CO-DIR. & PROD. อิสรีย์ อรุณประเสริฐ


ในอดีต ชุมชนลาดพร้าวเคยเป็นชุมชนที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยขยะลอยเกลื่อนเต็มคลอง ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่ว การทำงานอาสาเก็บขยะในลำคลองอาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาสั้นๆ ที่ปลายเหตุ แต่กลุ่มคนอาสาก็ทำด้วยความหวังว่าจะได้เห็นคลองลาดพร้าวกลับมาใสสะอาดอีกครั้ง


Youth Jury Award

EGG

DIR. & PROD. Li-Wei Hsu


EGG is คือหนังอนิเมชั่นว่าด้วยความสัมพันธ์ของมนุษย์และลูกนกที่นำพาความหวังมาสู่โลกที่พังทลาย



Non-Documentary Competition

Second Runner-up

TEMPERATURE

DIR. & PROD. เมธัส จันทวงศ์


TEMPERATURE เป็นภาพยนตร์ทดลองที่นำเอาองค์ประกอบ ทั้งฟุตเทจ ภาพถ่ายและแอนิเมชันมาซ้อนทับกัน ให้เกิดพื้นผิวและอุณหภูมิสีที่แปลกตา เพื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิอากาศ โดยเล่าผ่านวิถีชีวิตผู้คนในแต่ละวัน ที่ปล่อยคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ ออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการใช้ชีวิตของเรานั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตลอดหลายปี แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถหยุดการดำรงอยู่ของเราได้ ทางออกจึงเป็นเรื่องความรับผิดชอบและตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา


Jury statement

หนังที่ใช้เทคนิคผสมระหว่างสารคดี แอนนิเมชันและภาพยนตร์ทดลอง เพื่อทำให้ตระหนักว่าเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโลกร้อนมาตลอด แม้บางครั้งก็เหมือนว่าเราอาจจะเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยลดปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ในท้ายที่สุด เราทำได้สำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่กับความจริงจังของตัวเราเอง


First Runner-up

LICHENS

DIR. & PROD. การันตร์ วงศ์ปราการสันติ


ในช่วงเวลาที่ นัท ลูกชายคนเดียวของ วาสนา กำลังป่วยจากมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เขาอยากจะเดินเข้าป่ากับแม่เพื่อที่จะกลับไปหาความทรงจำของทั้งคู่ที่มีต่อพ่อ ซึ่งเป็นความทรงจำที่ทำให้ทั้งสองรู้สึกถึงความรักและเจ็บปวดในเวลาเดียวกัน


Jury statement

หนังเปิดโอกาสให้ผู้ชมรู้สึกร่วมกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเขียนบทที่ชัดเจนอย่างหนังประเด็น แต่ขณะเดียวกันก็เชื้อเชิญให้เข้าหาอย่างมีชั้นเชิง ปราศจากกำแพงของภาษาแบบนักรณรงค์หรือน้ำเสียงเชิงสั่งสอน ภายใต้โครงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกชายที่ให้อารมณ์เศร้าสร้อยและหวนหาอาลัย หนังสอดแทรกทั้งเรื่องราวของผู้ที่ต้องป่วยไข้เรื้อรังเพราะสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายลง จังหวัดเชียงใหม่ที่คุณภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีหลัง รวมถึงกลุ่มคนผู้อุทิศชีวิตเพื่อปกป้องธรรมชาติและมนุษย์


Winner

THE PERFECT LI(F)E

DIR. ภูมิชญณัฐ มิตรธีรโรจน์

PROD. ภูมิชญณัฐ มิตรธีรโรจน์, กัญญาภา ตู้บรรเทิง


เรื่องราวของหญิงสาวไฟแรงคนหนึ่งที่ยอมทุ่มเททุกอย่างทั้งเวลาและสุขภาพเพื่อสร้างอนาคตที่ฝันไว้ให้เป็นจริง ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สวย จนกระทั่งเธอสังเกตว่าหอพักที่ตัวเองอยู่เริ่มมีงูเข้ามาบ่อยขึ้น เธอไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร แต่หารู้ไม่ว่ามันคือสัญญาณบอกว่าทุกอย่างในโลกกำลังเปลี่ยนไป รวมทั้งชีวิตของเธอ


Jury statement

วิธีการนำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาพยนตร์ ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ เริ่มจาก circumstance รอบๆตัวเรา วิถีชีวิตปกติที่ไม่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมาเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร และค่อยๆ เผยเรื่องราวผลกระทบที่ซ่อนเร้นอยู่รอบตัว นำไปสู่บทสรุปที่กระตุกความคิดให้พวกเราหันมาสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะผลกระทบนั้นไม่ได้ห่างไกลตัวเราอย่างที่เคยเข้าใจ


Documentary Competition

Second Runner-up

เสียงกลางนา

DIR. ปภพ แสงคง

PROD. ศุภนัฐพล สุขศาล


สารคดีบันทึกบทสนทนาระหว่างการทำนา ของชาวห้วยหูด อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์


Jury statement

สารคดีเรื่องนี้ให้โอกาสเราเข้าไปนั่งเงียบ ๆ ในทุ่งนา แล้วรับฟังเสียงของชาวนาและทำความเข้าใจปัญหา บรรลุด้วยตัวเองว่าวงจรของปัญหาของเกษตรกรอยู่ทีใด การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ระบบทุนนิยม หรือความล้มเหลวในการจัดการของรัฐ และท่ามกลางความยากลำบาก เราก็ยังเห็นเศษเสี้ยวความรื่นรมย์ของชีวิต


First Runner-up

คน-ป่า (WE AND THE WOODS)

DIR. วีระพรรณ ถาวร

PROD. สุธีร์ เรืองโรจน์


ท่ามกลางโลกของการพัฒนาคนส่วนใหญ่ตกอยู่ในวังวนของความโลภ กลุ่มชนเผ่าปกาเกอะญอกลุ่มหนึ่ง กำลังหาหนทางในการรักษาและสานสันติกับธรรมชาติ ผ่านพิธีกรรมประจำปีที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายพันปี


Jury statement

ภาพยนตร์ทำออกมาได้สวยงามทั้งภาพ เสียง และกระบวนการนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตร่วมกับธรรมชาติ และความตระหนักถึงความรับผิดชอบของการดำรงชีพของตนเองต่อธรรมชาติ และการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในกระแสโลกที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อดูดซับ CO2 ซึ่งทำให้เกิดความกระทบกระทั่งกับกลุ่มชนชาติพันธุ์ไปทั่วโลกทั้งใน Africa และ South America ในด้านการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งภาพยนต์ได้นำเสนอแง่มุมที่สวยงามของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปรัชญาการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในผืนป่าได้อย่างน่าประทับใจ


Winner

เบื้องหลังกำแพง (BEHIND THE WALL)

DIR. ชนม์ชนก ธนัสทีปต์วงษ์

CO-DIR. & PROD. ปฏิภาณ บุณฑริก


โรสนี นูฟารีดา หรือ ‘ดะห์’ กวีสาวชาวมุสลิม ผู้เคยเขียนบทกวีรวมเล่มจนได้เข้าชิงและเป็น Shotlisted รางวัล S.E.A. Write ในปี 2016 กำลังหาแรงบันดาลใจเพื่อแต่งกวีเกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่งและโครงสร้างแข็งกันคลื่นในสงขลา จังหวัดบ้านเกิดของเธอเอง ทว่าคอนกรีดต่าง ๆ ที่สร้างเพื่อป้องกันการกันเซาะ แต่กลับทำให้เกิดการกัดเซาะด้านข้างมากขึ้น ภาพยนตร์เรื่อง ‘เบื้องหลังกำแพง’ ร้อยเรียงบทสัมภาษณ์ของผู้คนสลับกับบทกวีที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อนำเสนอสัจธรรมของธรรมชาติ


Jury statement

เสียงสัมภาษณ์ที่สั้นกระชับแต่ครบใจความ พลังของธรรมชาติในบทกวี และสายตาที่บันทึกภาพภูมิทัศน์ไว้ได้ทั้งความงามกับความเสียหาย ทำให้เวลาเพียงแปดนาทีเศษของ “เบื้องหลังกำแพง” เป็นเสมือนอีกหนึ่งเกลียวคลื่นอันแยบยลที่ช่วยเฉลยความจริงทั้งหลาย ความจริงที่กินความกว้างกว่าทะเลสงขลา กว้างกว่าปัญหากำแพงกันคลื่น ความจริงที่เป็นสากลเมื่อพูดถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญ เมื่อผู้มีอำนาจ ภาครัฐ และกลุ่มทุน กลับเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาความเสียหายโดยตรง ทั้งด้วยความไม่ตระหนักรู้และผลประโยชน์เบื้องหลัง


ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะรางวัลและศิลปินทุกท่านอีกครั้ง


แท็ก:

bottom of page