ผู้ชนะการประกวดหนังสั้นในเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 3
top of page

ผู้ชนะการประกวดหนังสั้นในเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 3

อัปเดตเมื่อ 6 มี.ค. 2566

21 กุมภาพันธ์ 2566 - กรุงเทพมหานคร — ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ สำหรับรางวัลหนังสั้นจากเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยนปี 2566 ในปีนี้เทศกาล CCCL มีการมอบรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 13 รางวัล ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดของเทศกาล โดยรางวัลทั้งหมด 13 รางวัล แบ่งออกเป็น รางวัลขวัญใจยุวทูต CCCL (Youth Jury Award), รางวัลขวัญใจผู้ชม (Audience Award), รางวัลพิเศษจาก CCCL (Special Award), รางวัลสำหรับหนังสั้นจากเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี (Young Filmmaker Award) และรางวัลจากกรรมการตัดสินหนังสั้น ซึ่งตัดสินโดยคุณประวิทย์ แต่งอักษร (นักวิจารณ์ภาพยนตร์), คุณคัทลียา เผ่าศรีเจริญ (โปรดิวเซอร์), และดร.กฤษฎา บุญชัย (เลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA)) โดยในปีนี้เทศกาลฯได้มอบรางวัลรวมมูลค่า 235,000 บาท

โดยภายในงานประกาศผลรางวัลหนังสั้นซึ่งดำเนินรายการโดย คุณเอิร์ธ นิโรธ รื่นเจริญ (เอิร์ธ ออสการ์) ทางเทศกาล CCCL ได้รับเกียรติจากคุณ Malaurie Carras, คุณ Kathryn Bimson (กรรมการที่ปรึกษาโครงการ CCCL), คุณพิริยะ อุไรวงศ์ (ผู้จัดการแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ), คุณ Peter Eric Dennis, คุณสมยศ เกียรติอร่ามกุล (รองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส), คุณนรินทร์ หวังศรีวัฒนกุล (ประธานมูลนิธิแสง), คุณ Annelie Langerak (กรรมการที่ปรึกษาโครงการ CCCL), คุณเกสร กำเหนิดเพชร (รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย), คุณฟรานซิสกุส ตาร์เมดี (มูลนิธิไฮริค เบอล์), และคุณคริสโตเฟอร์ จี มัวร์ (ผู้ก่อตั้ง CCCL) ขึ้นมอบเกียรติบัตรให้กับศิลปิน


ผลการประกวดหนังสั้น

รางวัลขวัญใจยุวทูต CCCL (Youth Jury Award) พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท US โดย Nika Zhukova, Eli Hofman


 

รางวัลขวัญใจผู้ชม (Audience Award) พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท FIRST DRAFT โดย ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์


 

รางวัลพิเศษจาก CCCL (Special Award) พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท THE ROUND LAKE โดย Zayan Agha

รางวัลพิเศษจาก CCCL (Special Award) พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท

SPIRIT OF THE FOREST โดย Nandini Rao, Nirupa Rao, Kalp Sanghvi


 

รางวัลสำหรับหนังสั้นจากเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี (Young Filmmaker Award) พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท NATURE LULLABY โดย จิรภัทร วีณะคุปต์

รางวัลสำหรับหนังสั้นจากเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี (Young Filmmaker Award) พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท THE ACTUAL โดย กรองกาญจน์ เกี๋ยงภาลัก


 

JURY AWARD: NON-DOCUMENTARY

Jury Award สำหรับหนังสั้นที่ไม่ใช่สารคดี Special Mention พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท เมืองล่ม (FALLENCITY) โดย ณภัทร ขุนล่ำ


Jury statement:

"เรื่องที่อาจอยู่ในทุกการสนทนาแต่ไม่ได้ถูกนำมาประกอบและจัดการหรือเผยแพร่ให้เห็นในยุคที่เครื่องมือการสื่อสารมีหลากหลาย เวลา หยาดเหงื่อ และการเฝ้ามองครุ่นคิด จนเกิดเป็นประสบการณ์ที่ถูกถ่ายทอดในระยะประชิดในมิติของ'เมือง'ที่ดูไกลจากปัญหาสิ่งแวดล้อม กลายเป็นวิกฤตซ้ำซากจากความจำเจเคยชินของใครหลายคนจากเมืองใกล้ล่มหรือล่มซ้ำซากแห่งนี้ อย่างไรก็ดีอยากเห็นความสัมพันธ์นี้ในมิติที่มีความกว้างหรือลึกขึ้น"

Special Mention พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท ดิน น้ำ จม ฝุ่น (TO DUST AND DROUGHT) โดย จิตตินนท์ สัจจกุลวนิชย์


Jury statement:

"แม้ว่าโดยรวมแล้ว ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ดิน น้ำ จม ฝุ่น” อาจจะยังไม่ราบรื่น แนบเนียนหรือลงตัวเท่าใดนักในแง่ของกลวิธีการนำเสนอ และรวมถึงการออกแบบงานสร้าง ซึ่งกรณีหลัง น่าจะเป็นผลจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือความทะเยอทะยานของผู้สร้างในความพยายามจะจำลองโลกอนาคตที่น่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงภายหลังจากระบบนิเวศล่มสลาย และถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงจินตนาการส่วนบุคคล มันก็ชวนให้เชื่อว่าภาพฝันร้ายเหล่านั้นไม่น่าจะห่างไกลจากโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้ในโลกความเป็นจริง"

Special Mention พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท UNDERNEATH โดย ศิวกร ศรีคำม่วม, สุพิชญา ธรรมแสงโชติ


Jury statement:

การ์ตูน Underneath นำเสนอเรื่องเมืองลอยน้ำที่สร้างจากเศษเหล็กใกล้พัง จนปรากฏชาวเงือกมาชวนให้ผู้คนเปลี่ยนเป็นมนุษย์เงือกลงไปอยู่ใต้สมุทร จะมีก็แต่อัฟฟ่าที่ไม่ยอมจะทิ้งเมืองไป เธอสู้ด้วยการซ่อมชิ้นส่วนต่างๆ ของเมือง แต่เธอจะซ่อมทั้งเมืองได้อย่างไร สุดท้ายเมืองก็จมน้ำ เธอจึงตัดสินใจกระโดดลงน้ำ


หนังสะท้อนวิกฤติโลกร้อน แทนที่ทุกคนจะร่วมมือกันแก้ปัญหา กลับหนีปัญหา ท้ายที่สุดก็หนีไม่ได้ ไม่รู้ว่าอัฟฟ่ายอมกลายเป็นมนุษย์เงือกหรือกระโดดน้ำตาย แต่ในชีวิตจริงยังมีคนที่สู้และพร้อมดับสูญไปกับโลก หากมีคนอย่างอัฟฟ่ามากพอ มนุษย์อาจกู้วิกฤติโลกร้อนได้ เราจะไม่รอดถ้าไม่ร่วมมือกัน หรือถ้าหนีรอด เราจะยังเหลือคุณค่าความเป็นมนุษย์อยู่ไหม


 

JURY AWARD: DOCUMENTARY

Jury Award สำหรับหนังสารคดี Special Mention พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท ปะนาเระ เรือเล็กอาจจะไม่ได้ออกจากฝั่ง (PANARE, SHIP ON THE SHORE) โดย ณภัทร เวชชศาสตร์


Jury statement:

"ในมิติของการเป็นภาพยนตร์สารคดีสั้นที่พาผู้ชมไปทำความรู้จักเมืองเล็กๆชายแดนใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ สิ่งละอันพันละน้อยที่ผู้สร้างถ่ายทอด ทั้งลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ วิถีความเป็นอยู่ของผู้คน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล น่าจะมีส่วนช่วยถ่วงน้ำหนักให้พวกเราได้เห็นอีกด้านหนึ่งที่มีเสน่ห์ดึงดูดของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม กระนั้นก็ตาม ประเด็นน่าห่วงกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ทว่าข้อมูลจากคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องและการสอดแทรกให้ได้เห็นสถานการณ์ล่าสุดที่น่าตกใจ อันได้แก่ความเสียหายของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ก็น่าจะทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงความร้ายแรงของปัญหา และตระหนักได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน"

Special Mention พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท

ชาวนานักวิจัย (THE FARMER) โดย สิริธารณ์ เลาวกุล


Jury statement:

"หนังเรื่องชาวนานักวิจัยได้เปิดมุมมองต่อวงการสภาวะโลกร้อนซึ่งมักไม่สนใจชาวนา พวกเขามักถูกมองเป็นทั้งผู้เปราะบาง และเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคิดว่าชาวนายากจนขาดความรู้ ต่อสภาวะโลกร้อน ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือและถูกควบคุมโดยรัฐหรือกลุ่มทุน


หนังได้เผยความจริงว่า ยังมีชาวนาที่ลึกซึ้งในธรรมชาติ ทั้งพี่บุญลือ จากนครสวรรค์ หรือคงศักดิ์ จากสกลนคร จนสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่จากพันธุ์ป่า พันธุ์พื้นบ้าน เกิดเป็นพันธุ์ข้าวทนกับภูมิอากาศแปรปรวนได้เป็นอย่างดี


ความรักในธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ของชาวนาทั้งสองคือพลังแห่งความดีงาม แต่การปรับปรุงพันธุ์ข้าวของชาวนานักวิจัยอาจผิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือทางออกของวิกฤติโลกร้อนไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบบนิติรัฐที่ล้มเหลว"

Jury Award พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท

ผูกปิ่นโต (THE FOOD SUBSCRIPTION) โดย นิชาภา นิศาบดี


Jury statement:

" 'ผูกปิ่นโต' เป็นภาพยนตร์สารคดีสั้นที่เล่าเรื่องจากมุมส่วนตัวของผู้สร้างต่อปัญหาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โยงใยกับประเด็นความมั่นคงทางอาหารได้ชวนติดตามและสัมผัสได้ถึงความห่วงใย พร้อมๆกันนั้น ก็สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมให้กับผู้ชมในแง่ที่คนธรรมดาสามัญจะช่วยแบ่งเบาได้อย่างไร ข้อที่น่าชื่นชมก็คือ ผู้สร้างไม่ได้เพิกเฉยหรือหันหลังให้กับความเป็นจริง และนั่นยิ่งทำให้ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ดูหนักแน่น และไม่ได้มองเห็นปัญหาจากแง่มุมเดียว ขณะที่ในส่วนของกลวิธีการนำเสนอก็สอดแทรกไว้ด้วยลูกเล่นของการใช้ภาพประกอบ การใช้เสียง ซึ่งสร้างบรรยากาศที่กระฉับกระเฉงและมีชีวิตชีวาให้กับเนื้อหาที่เคร่งขรึมจริงจัง"


Grand Jury Award พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท

แม่โขง - นฤมิต (MULTIVERSE OF MEKONG) โดย ปฏิภาณ บุณฑริก


Jury statement:

"แม้จะเป็นสารคดีที่มีส่วนของการให้ข้อมูลแบบตรงไปตรงมาหรือการเดินตามขนบสารคดีด้วยการพูดผ่านตัวบุคคลก็ตาม ก็ผ่านการตัดสินใจมาอย่างดีในการร้อยเรียงประเด็นปัญหาของแม่น้ำโขงได้กลมชัดในทุกมิติ แม่โขง - นฤมิต เป็นสารคดีที่มีองค์ประกอบการสร้างภาพที่หลากหลายแต่ยังคงให้ข้อมูลที่หนักแน่นต่อประเด็นที่เป็นหัวใจของสารคดี โดดเด่นในการ Visualize ด้วยเทคนิคที่ท้าทายบริบทของเทคโนโลยีปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้ได้ เปิดประสบการณ์ทางผัสสะ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมหรือนักเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ จะสามารถสร้างเป้าหมายเพื่อสื่อสารวิกฤตความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ด้วยตัวเอง"


ขอขอบคุณศิลปินที่มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวไปกับเรา และขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลในการประกวดหนังสั้นในปีนี้

bottom of page