“รุกล้ำ” (ruk-lam) | CCCL Student Ambassadors 2021
top of page

“รุกล้ำ” (ruk-lam)

ภาพสื่อผสมโดยการนำพลาสติกมาละลายและวาดลงบนเฟรมผ้าใบ

โดย ปรวิศา แทนรินทร์

Meet the Artist

Film Slate Marker

ปรวิศา แทนรินทร์

แอ้ม นักเรียนชั้นม.5 ผู้สนใจงานด้านการสื่อสารผ่านสื่อมีเดีย ได้ผลิตผลงานวิดีโอสร้างสรรค์เข้าร่วมประกวดหลายโครงการ เช่น ประกวดวิดีโอของดีบ้านฉัน หัวข้อ แมว OKMD และวิดีโอ Koi the - My Daily beats ช่วงที่แอ้มได้ไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้เรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมและเห็นบรรยากาศในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่นั่น จึงเกิดแรงบันดาลใจและการตระหนักรู้ถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แอ้มจึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพูดคุยและสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านพื้นที่ของงานสร้างสรรค์ต่างๆ

แสดงความคิดเห็นต่อผลงาน

บทสัมภาษณ์ปรวิศา แทนรินทร์ (แอ้ม)

22 กรกฎาคม 2564

ไอเดียมาจากไหน ?

ตอนแรกไอเดียฟุ้งมาก เยอะมาก เพราะปัจจัยของภาวะโลกร้อนมันก็เยอะมาก ตอนแรกทำหลักๆ สามไอเดีย แล้วก็พบว่าตัวเองชอบไอเดียที่เกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าเพราะมันเป็นอะไรที่ทุกคนคงรู้ดีว่ามันไม่น่าจะใช่เรื่องที่ดี เลยอยากทำอะไรที่มันสื่อสารง่ายสุด เข้าใจง่ายสุด 

 

ในเรื่องเทคนิค ก็อยากลองทำอะไรที่ออกจาก comfort zone [สิ่งที่คุ้นเคย] ตัวเองด้วย ไปเจอไอเดียในอินเทอร์เน็ตที่เขาเอาขยะมาทำเป็นงาน collage มาสร้างเป็นรูปภาพ พอลงมือทำจริง ขยะที่เราเก็บมามันไม่ได้หลากหลายและเพียงพอ เลยทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ไปเลย เนื่องจากขยะส่วนใหญ่ที่แอ้มเก็บมาคือพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก เอามันมาละลาย แล้วลองเอาไปติดบนเฟรมผ้าใบ texture [ผิวสัมผัส] มันน่าสนใจอีกแบบ เหมือนเราได้สื่อข้อความผ่าน texture ของงานด้วย เราก็อยากสื่อสารทั้งจากข้อความจากรูปภาพ และจากวัสดุที่เราใช้ผลิตผลงานด้วย คิดว่าน่าจะแปลกใหม่ดี

ประเด็นหลักที่อยากให้คนเห็นคืออะไร ?

ประเด็นเรื่องโลกร้อนมันมีมากมาย และเราอยากให้งานเราเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย เด็ก ๆ มองก็เข้าใจได้ อย่างที่อาจจะเห็นว่ามันก็มีปัญหาเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้มานานแล้ว ขณะเดียวกันประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการก็เพิ่มมากขึ้น เริ่มรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้มากขึ้น อาจจะทั้งเอาไปทำเป็นที่อยู่อาศัย หรือโรงงานอุตสาหกรรม มันจึงเกี่ยวเนื่องกับความต้องการของมนุษย์ด้วย แอ้มก็เข้าใจว่าเราไม่สามารถหยุดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบหยุดใช้เลย เพราะมนุษย์เราก็ต้องการใช้ทรัพยากร แอ้มมองว่าปัญหามันคือความต้องการของเรามันไม่มีที่สิ้นสุด แล้วมันก็ไม่มีการทดแทนอะค่ะ คนที่มามองงานแอ้มไม่จำเป็นต้องเป็นนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลกับเรื่องนี้โดยตรง แต่อย่างน้อยคนทั่วไปอาจจะมีการคิดว่าเราควรจะทำอะไรเพื่อทดแทนบ้าง 

 

ถ้ามองจากมุมของผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ แอ้มอยากให้เขามองเห็นว่าต้นไม้เป็นเหมือนโรงงานผลิตออกซิเจน แล้วโรงงานก็เป็นที่ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ เหมือนมันต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา มนุษย์ไปใช้พื้นที่ของมัน [ต้นไม้] มากขึ้น แล้วสร้างโรงงานผลิตนู่นนี่ มันเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ แล้วพื้นที่สีเขียวก็จะเหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวว่ามันจะกลับมากระทบเราภายหลัง โดยเฉพาะในเรื่องความสมดุลของธรรมชาติ เพราะป่าไม้ก็เป็นที่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ ถ้าเราไปทำลายระบบตรงนั้น มันก็จะกระทบมาถึงตัวเราได้ด้วย ถ้าไม่เริ่มตระหนักตอนนี้ อนาคตอาจจะ[แก้ไข]ไม่ทันแล้วก็ได้

เล่ากระบวนการในการทำงานหน่อย ?

เรารู้สึกว่ารูปร่างของต้นไม้และปล่องไฟจากโรงงานอุตสาหกรรม มันมีอะไรที่คล้ายกัน

ทั้งรูปร่างและฟังชั่น ต้นไม้ก็ผลิตก๊าซออกมา แต่เป็นก๊าซดี ส่วนโรงงานก็ปล่อยก๊าซที่ไม่ดี เป็นอะไรที่ตรงข้ามกัน ต้นไม้ก็เหมือนโรงงานจากธรรมชาติ โรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นโรงงานที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นมิติที่ contrast [ขัดแย้ง] กัน เลยอยากทำตรงนี้

 

แล้วก็มาคิดว่าจะวาดแบบไหน เลยลองวาดเป็น pattern มีต้นไม้และโรงงานในแต่ละเฟรม อยากนำเสนอการรุกล้ำของโรงงานที่มีมากขึ้นในแต่ละเฟรม เหมือนมนุษย์เราที่ไปบุกรุกธรรมชาติมากขึ้น จากสีเขียวเยอะก็น้อยลง อยากให้คนคิดต่อจากการดูงาน เลยออกแบบให้มันเป็นเลขาคณิต ให้คนดูแล้วอยากรู้มากขึ้นว่ามันคืออะไร อาจจะไม่ได้ดูออกทันทีเลย อยากให้คนคิดต่อว่ามันคืออะไร

ปัญหาในการทำงาน ?

ไอเดียตั้งต้นเราอยากทำ collage ใช้ขยะหลายชนิด เพราะช่วงโควิดเลยออกไปหาอะไรได้ไม่มาก

เลยลองเอาพลาสติกมาละลายแล้วเอาไปแปะบนเฟรม ซึ่งก็น่าสนใจดี แต่พอละลายแล้วมันหดเหลือนิดเดียว เลยต้องใช้เวลานานมากกว่าจะ set เฟรมนึงได้ ใช้เวลาทำเฟรมนึงเกือบสองวันได้เลย 

เสียง element ที่เพิ่มมา (จะมี QR code ให้สแกนฟังเสียงตอนวันแสดงงานจริง)

ตอนแรกไม่ได้คิดเรื่องเสียง แต่คิดว่าถ้ามีเสียงเราก็สามารถสื่อสารได้มากกว่าภาพเพียงอย่างเดียว ตอนที่แสดงงานจริง ๆ คนจะสามารถสแกนเพื่อฟังเสียงมันได้ ก็เลยอยากทำให้มันเชื่อมโยงกับเฟรมทั้งสามเฟรม อาจจะเริ่มจากเสียงที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ในเฟรมแรก 

เฟรมสอง เริ่มมีการรุกล้ำ จะมีเสียงของโรงงานอุตสาหกรรม การตัดไม้เกิดขึ้น ขุดดิน ก่อสร้าง

เฟรมสุดท้ายจะเศร้าที่สุด เป็นเสียงโรงงานและไม่มีธรรมชาติเหลือแล้ว

 

เฟรมที่สามถ้ามองจาก visual จะเห็นว่า ต้นไม่เหลือแค่ต้นเดียวจากหลายต้น อนาคตจะเป็นยังไง ก็ให้คนดูไปคิดต่อเอาเอง 

เราได้เรียนรู้อะไรในมุมมองต่อ climate change ก่อนและหลังทำงานชิ้นนี้ ?

ช่วงที่พัฒนาไอเดียของงาน เราก็ต้องค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนมากขึ้น เราก็ได้รู้ว่าสาเหตุของโลกร้อนมันไม่มีได้อะไรที่[เราเห็น]เขารณรงค์กันอย่างเดียว มันมีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น บางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ บางอย่างเกิดขึ้นเอง บางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมนุษย์ด้วย บางอย่างเกิดขึ้นเพราะมนุษย์แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้ รู้กว้างขึ้นในเรื่องปัจจัยของการเกิดโลกร้อน 

จริงๆ ก็ต้องขอบคุณ CCCL ที่ทำให้ได้เข้าไปศึกษามากขึ้น ได้เริ่มดูสารคดีด้วย 

ได้อะไรเยอะมากจากโครงการ ไม่ใช่การทำผลงานศิลปะขึ้นมาแล้วจบ ตัวเราเองในฐานะคนสร้างก็ได้เรียนรู้มากขึ้น 

อยากฝากอะไรถึงคนท่ัวไปในประเด็นสิ่งแวดล้อม

จริง ๆ ก็พูดยากมากถ้าพูดให้ทุกคนหันมารักสิ่งแวดล้อม ช่วยโลก มันก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้ยาก แอ้มก็เข้าใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่มันก็มีสิ่งที่เราทำได้เยอะมาก ๆ ในชีวิตประจำวัน คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักอนุรักษ์ นักรณรงค์ ในฐานะเด็กอายุ 17 เราก็พยายามที่สุดที่จะช่วยโลกได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมบางอย่างของเรา เราอาจจะไม่ตระหนักว่ามันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมยังไง ถ้าเราเปลี่ยนมันได้ แค่เล็กๆ มันก็ช่วยโลกได้มากๆ เลย การที่เราเริ่มต้นมันก็คือการช่วยโลกแล้ว อยากฝากไว้ว่าพฤติกรรมของเรามันก็ส่งผลต่อโลก ดังนั้นถ้าเราช่วยกันเล็กๆ น้อยๆ เปลี่ยน habit [นิสัย]ประจำวันของเรา มันก็ช่วยโลกได้ค่ะ ช่วยกันเปลี่ยน

ในฐานะที่ไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา ความแตกต่างของเยาวชนที่อเมริกากับไทย มันแตกต่างกันอย่างไร ?

เท่าที่ในโรงเรียนแอ้ม เท่าที่มองเห็น เขาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ เขาค่อนข้างปลูกฝังให้นักเรียนตระหนักรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แอ้มได้เข้าเรียนวิชา Environmental Science [วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ] ที่สอนเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ตอนนี้โลกเกิดอะไรขึ้น เขาสอนอะไรที่มันอัปเดตมาก ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะในหนังสือในตำราเรียน จะมีการบอกว่าสาเหตุคือแบบนี้นะ แก้ไขแบบนี้น เขาพาเราลงลึกให้เด็กอินมาก ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้มันจะกระทบกับเราในอนาคตนะ ทำให้เราคิดว่าเราต้องทำยังไงได้บ้าง เขาก็จะพาทำจริง ๆ เลย อย่างในคลาส เราจะให้เริ่มจากการดูสารคดีก่อนเลย เหมือนเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนรู้ [สำหรับแอ้ม] มันเป็นเรื่องที่ใหม่มาก อย่างที่เรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไทย ไม่ได้รู้อะไรที่มันอัปเดตนอกจากหนังสือเรียน เรียนไปก็จบเลย เรื่องวิทยาศาสตร์ชีวะ เราไม่รู้เรียนไปทำไมด้วยซ้ำ ที่นั่นมันเหมือนเรียนไปแล้ว เราได้เอาไปใช้จริง ๆ 

 

เขาสร้างความตระหนักรู้ให้นักเรียนจริง ๆ ไม่ใช่แค่ว่าเรียนแล้วจบ ๆ ไป เขาเอาสถานการณ์ปัจจุบันมาให้เรียนรู้ เช่น เรื่อง ozone hole [ช่องโหว่โอโซน] ก็เอามาให้ดูเลยว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง รู้สึกอยู่นู่นมันอินกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าตอนอยู่ไทยจริงๆ โดยส่วนตัวนะ ก็มองว่าที่นู่นเขาสร้างการตระหนักรู้ให้เด็กมากกว่าจริง ๆ 

 

กิจกรรมนอกโรงเรียน แอ้มก็เห็นป้ายรณรงค์เรื่อง climate change เยอะมาก ๆ เลย อาจจะด้วยปีที่ผ่านมาก็แย่ขึ้น อย่างรัฐที่แอ้มอยู่ โคโลราโด ก็เกิดไฟป่าเยอะมาก เขาพยายามปลูกฝังให้คนในชุมชนช่วยกันเพราะเขาก็เผชิญกับปัญหากันจริงๆ 

แอ้มคิดว่าทำไมที่อเมริกา เขาปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ทำไมเขาถึงปลูกฝังเยาวชนในเรื่องสิ่งแแวดล้อม

แอ้มมองว่าเด็กก็เหมือนแก้วน้ำ ที่เรายังรับอะไรใหม่ๆ ได้เรื่อย ๆ ถ้าเรามาปลูกฝังที่เด็กก่อนอย่างเงี้ย เด็กก็ต้องเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลโลกต่อไปอยู่ดี อาจจะเป็นปัจจัยนึงที่ทำให้เขาอยากปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อม แอ้มมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ไม่ใช่แค่เด็กวัยแอ้ม แต่ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ เลย เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่จะขยายไปเป็นวงกว้างมากขึ้น

ในฐานะเยาวชนไทย เราคิดว่าาสภาพประเทศไทย ระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้ เราคิดว่าเรามีความหวังที่จะเห็นประเทศนี้จะดูแลสิ่งแวดล้อมไหม ?

รู้สึกมีหวังนะ ไม่ได้มีหวังในคนที่มีอำนาจอะไรขนาดนั้นว่าเขาจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ถ้าพูดถึงคนวัยเดียวกันและเยาวชน แอ้มรู้สึกว่ามันมีหวังเพราะเราเดินทางมีถึงปีเนี้ย เด็กเริ่มกล้าพูดอะไรมากขึ้น เริ่มกล้าออกมาช่วยรณรงค์ในเรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ในเรื่องความยุติธรรมต่างๆ เราก็เห็นแล้วว่าเด็กไทยก็สุดยอดมากเลยนะ take action [ลงมือทำ]และมี awareness [การตระหนักรู้] ในประเด็นทางสังคมต่าง ๆ เริ่มออกมาพูด มาขอความยุติธรรมให้กับสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น

 

ย้อนมาเรื่องสิ่งแวดล้อม แอ้มว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปสำหรับเยาวชนไทยเลย ที่จะช่วยกันพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น ให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น แอ้มว่าเรามีหวังมาก ๆ เลยนะ

 

เราคิดว่าพลังเยาวชนมันสำคัญอย่างไรในประเด็นโลกร้อน ?

จริง ๆ ผู้ใหญ่เขาก็อยากรับฟังเด็กอยู่แล้วแหละ แต่ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มองเห็นหรือให้ความสำคัญขนาดนั้น แต่ปัจจุบันมันดูมีหวังมากขึ้นที่ผู้ใหญ่จะเริ่มรับฟังเสียงของเยาวชนมากขึ้น จริง ๆ พลังของเยาวชน แอ้มว่ามัน influence [ส่งผลกระทบ] ให้ผู้ใหญ่ได้คิดด้วยซ้ำไป ประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้ใหญ่อาจจะไม่ได้มองเห็นว่ามันคือปัญหา พอเราเริ่มรวบรวมเสียงกัน เขาอาจจะหันมามองมากขึ้น 

 

ผู้ใหญ่อาจจะมีอำนาจมากกว่าในการตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เด็กอาจจะไม่มีอำนาจอะไรขนาดนั้น ถ้ามันเป็นการรวมพลัง เด็กมีความต้องการ รวมกลุ่มกัน แอ้มเชื่อว่าผู้ใหญ่ก็คงมองว่าโอเค ถ้าเขามีความแน่วแน่ขนาดนั้น มันก็ต้องทำอะไรสักอย่าง แอ้มเชื่อว่าเสียงเด็กมีความสำคัญมาก มีอิทธิพล ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง

bottom of page