เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน 2567 คัดสรรหนังสั้นประเด็นโลกรวน 38 เรื่อง ในโปรแกรม Short Film Competition
top of page

เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน 2567 คัดสรรหนังสั้นประเด็นโลกรวน 38 เรื่อง ในโปรแกรม Short Film Competition

อัปเดตเมื่อ 7 ก.พ.


CCCL ประกาศรายชื่อหนังสั้นในโปรแกรมหนังสั้นสายประกวดสำหรับเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 4


ในปีนี้ คัดเลือกจากหนังสั้นทั้งหมด 383 เรื่อง CCCL คัดเลือกหนังสั้นสำหรับสายประกวดหลักทั้งหมด 38 เรื่อง แบ่งเป็นหนังสารคดี 19 เรื่อง และหนังประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่สารคดี 19 เรื่อง ในจำนวนหนังทั้งหมด มีหนังจากประเทศไทยจำนวน 16 เรื่อง และหนังสั้นจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียจำนวน 22 เรื่อง


หนังสั้นทั้ง 38 เรื่องจะเข้าประกวดชิงรางวัล แบ่งเป็นการประกวดในสาขาสารคดี และสาขาหนังสั้นประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่สารคดี นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษ ได้แก่ รางวัลสำหรับหนังสั้นที่ผลิตโดยเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี รางวัลจากกรรมการเยาวชน และรางวัลขวัญใจผู้เข้าร่วมเทศกาล รวมมูลค่ารางวัลกว่า 200,000 บาท


เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยนปี 2567 จัดฉายระหว่างวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ และระหว่างวันที่ 19-29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ เชียงราย น่าน นครพนม อุดรธานี สงขลา และปัตตานี เปิดลงทะเบียนสำรองที่นั่งตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ทาง www.ccclfilmfestival.com


หนังสั้นสารคดี

โรงเรียนไม้ไผ่ (BAMBOO SCHOOL)

DIR. วีรยา วิชยประเสริฐกุล

เรื่องราวของโรงเรียนเล็ก ๆ ในพื้นที่ชนบทของจังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย ที่มีการออกแบบหลักสูตรให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม


CLIMATE CHANGE: UMESH SRINIVASAN AND HIMALAYAN BIRDS

DIR. Bahar Dutt, Vijay Bedi

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อีเกิ้ลเนส ในอรุณาจัลประเทศ เป็นสถานที่มหัศจรรย์ที่มีนกนานาพันธุ์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยกำลังคุกคามความอยู่รอดของพวกสัตว์ นักวิทยาศาสตร์อูเมช ศรีนิวาสาน กำลังพยายามหาคำตอบว่า นกตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างไร


คนหลังเขา (CORDILLERA SONGS)

DIR. อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอญอ ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาผืนป่าจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านพิธีกรรม ความเชื่อ และคำสั่งสอนที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยในอดีต ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ สัตว์ป่า และพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ แต่ในปัจจุบัน ชาวบ้านที่นี่กำลังเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ที่ลดลง สัตว์ป่าและพันธุ์ปลาต่างๆสูญพันธุ์ ผลผลิตที่ออกไม่ตรงตามฤดูกาล รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการดำรงชีพ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังคงช่วยกันปกป้องดูแลรักษาผืนป่าต่อไป ตามคำสอนที่ยังคงสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น “ ‘ออที เกอะ ตอกี ออก่อ เกอะ ตอก่อ’ ได้กินจากน้ำต้องรักษาน้ำ ได้กินจากป่าต้องรักษาป่า’’


DREAMS OF THE RAVAGED

DIR. Breech Asher Harani เรื่องราวชีวิตของ 3 เพื่อนเก่าที่ต่างเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมือง พยายามปกป้องและอนุรักษ์บึงอากุซานหรือที่รู้จักกันในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาของฟิลิปปินส์ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบด้นสิ่งแวดล้อมจากฝีมือมนุษย์ พวกเขาทั้งสามต้องเผชิญความท้าทายต่อแผ่นดินบรรพบุรุษ


FOUNT (BULAK)

DIR. Evrim İnci

วาลิดและครอบครัวของเขามีชีวิตที่ยากลำบากในโซมาเลีย พวกเขาจึงอพยพไปยังตุรกี ณ เมืองบูร์ดูร์ ซึ่งก็กำลังเผชิญกับวิกฤตความแห้งแล้งไม่ต่างจากที่โซมาเลีย


ใครเปลี่ยนกะเบอะดิน (KA BOE DIN CHANGE)

DIR. วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

สารคดีสั้นที่ทีมผู้จัดทำได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อมาจากคำว่า Climate Change โดยเปลี่ยนจากคำว่า Climate เป็นคำว่า KA BOE DIN ที่เป็นชื่อหมู่บ้าน ซึ่งต้องการบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนกะเบอะดิน เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่ส่งกระทบต่อชุมชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร วิถีชีวิต และประเพณีวัฒนธรรม นอกจากนี้ได้มีการเชื่อมโยงไปถึงโครงการเหมืองแร่ถ่านหินที่จะเกิดขึ้นในชุมชนซึ่งจะเป็นตัวเร่งที่ตอกย้ำถึงการเพิ่มขึ้นของผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


LIFE IN THE SALT WATER (নোনা জলে জীবন)

DIR. Samiur Rahman สารคดีถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงในชุมชนชายฝั่งของเมืองชยัมนคร ประเทศบังกลาเทศ ที่กำลังเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้คนในชุมชนต้องอุปโภคบริโภคน้ำเค็มเพื่อการดำรงชีวิต ซึงปัญหานี้เองทำให้ชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและความยากลำบากทางเศรษฐกิจ


LOST LANDS

DIR. Andy Ball เมื่อความต้องการทรายของประเทศกัมพูชาเพิ่มมากขึ้นอย่างสุดขีด ความไม่แน่นอนของระบบนิเวศและอนาคตของแม่น้ำโขงและชุมชนก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน สารคดีเรื่องนี้ติดตามสองครอบครัวในขณะที่พวกเขาถูกทิ้งให้ต้องรับผลที่ตามมาจากการเติบโตของเมืองในประเทศกัมพูชา


พรายของ (MEKHONG'S SPIRIT)

DIR. กมลลักษณ์ จิรหิตะภัทร, สโรชา อินถนอม

เมื่อปลาบึกในแม่น้ำโขงตายไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ วิญญาณของพวกเขาจึงกลับมาหาคำตอบว่าทำไมตัวเองถึงตายไปผ่านคำบอกเล่าของชีวิตที่อยู่กับแม่น้ำโขง และได้พบว่าความตายของเขาไม่ได้เกิดจากแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น


MIWATARI

DIR. Yusuke Ono

ทะเลสาบสุวะตั้งอยู่ในแอ่งซูวะทางตอนกลางของจังหวัดนากาโน่ของญี่ปุ่น ทะเลสาบสุวะซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เคยถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งหนาในช่วงฤดูหนาว ความแปรปรวนของอุณหภูมิจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า "มิวาตาริ" ซึ่งเศษน้ำแข็งจะลอยขึ้นมาจากน้ำพร้อมกับเสียงแตกดังกึกก้องกังวาลไกลข้ามทะเลสาบ เชื่อกันว่านี่คือเส้นทางที่เหล่าเทพเจ้าทิ้งไว้ขณะที่พวกเขาเดินทางข้ามทะเลสาบและเผ้ารอฤดูหนาว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือบันทึกปรากฎการณ์มิวาตาริตลอด 580 ปี โดยมี คิโยชิ มิยาซากะ หัวหน้านักบวชแห่งศาลเจ้ายัตสึรุกิ ผู้ดูแลพิธีกรรมชินโตที่เกี่ยวข้องกับมิวาตาริ เป็นผู้สืบทอดการบันทึกนี้


PODAMPETA IS DROWNING ANYWAY

DIR. Paribartana Mohanty

โพดำเพต้าและหมู่บ้านชาวประมงโนเลียอีกหลายแห่งในเขตกันจำของรัฐโอดิชาถูกทอดทิ้งเนื่องจากการกัดเซาะชายฝั่งอันเป็นผลมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ครอบครัวโนเซียต้องอพยพ โดยที่รัฐได้จัดหาห้องครัวให้พักหนึ่งห้องในพื้นที่ที่ห่างจากทะเล ทำให้ชาวประมงพลัดถิ่นเหล่านี้ก็สูญเสียงาน ทักษะ และวัฒนธรรมไป สิ่งนี้นำไปสู่การอพยพของผู้คนไปยังเมืองต่างๆ เพื่อหางานทำเป็นลูกจ้างรายวัน 'Podampeta is Drowning Any' เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างหมู่บ้านผีสิงและอาคารที่พักที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญถึงวิกฤตของการดำรงชีวิต


REFLECTION IN THE MARSH (PAMALANDONG SA DANOW)

DIR. Breech Asher Harani

เรื่องราวชีวิตของ 3 เพื่อนเก่าที่ต่างเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมือง พยายามปกป้องและอนุรักษ์บึงอากุซานหรือที่รู้จักกันในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาของฟิลิปปินส์ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบด้นสิ่งแวดล้อมจากฝีมือมนุษย์ พวกเขาทั้งสามต้องเผชิญความท้าทายต่อแผ่นดินบรรพบุรุษ


REGROW OUR HOME: MEET THE INDIGENOUS PEOPLE REGROWING A RAINFOREST IN MALAYSIA

DIR. Bryan Yong

Tropical Rainforest Collection (TRLC) Banun เป็นโครงการองค์การภาคเอกชนในประเทศมาเลเซียที่ฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายและรวบรวมฐานข้อมูลพืขในเขตรักษาพันธุ์ป่าอมันจายาที่เมืองเกริก รัฐเปอรัก ในการดำเนินภารกิจนี้ ทีมงาน TRLC Banun จ้างและฝึกอบรมชุมชนชาวจาไฮ ซึ่งเป็นชุมชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าฝนในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาของชุมชนในการเก็บข้อมูลและเพาะพันธุ์ต้นไม้ป่าฝนที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


SUNDARBANS: STUCK BETWEEN THE CYCLONE AND A RISING SEA

DIR. Roundglass Sustain

สุนทรพนา ป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดของโลก ประสบกับพายุรุนแรงนับร้อยปี แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาพายุมีกำลังรุนแรงขึ้นและเกิดถี่ขึ้น สร้างความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม คำถามคือ ภัยพิบัตินี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือไม่?


THE NGAMEES OF THE LAST WETLANDS

DIR. Longjam Meena Devi

เรื่องราวของชุมชนชาวประมงที่กำลังเผชิญกับการแทรกแซงเข้ามาควบคุมพื้นทะเลสาบลอกตักของรัฐ ขณะที่ทพเลสาบเองกำลังได้รับผลกระทบจากมลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


THE SILENCE AFTER THE STORM

DIR. Alina Rizwan

สารคดีตามติดเด็กชายในแคว้นสินธ์ที่กลับไปโรงเรียนเป็นครั้งแรก หลังจากผ่านเหตุการณ์น้ำท่วม


เรื่องเล่าเต่ามะเฟือง (THE STORY OF THE LEATHERBACK)

DIR. ดร.อลงกต ชูแก้ว

เรื่องราวของ "เต่ามะเฟือง" ที่ได้ชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมองผ่านเลนส์ของเด็กวัย 12 ขวบ ที่บันทึกเรื่องราวการเดินทางของเต่าทะเลในประเทศไทยตลอด 6 ปี ตั้งแต่การลดลงของประชากร สาเหตุที่ทำให้เกิดการวางไข่น้อยลง และวิธีการรักษาบ้านของเต่าทะเล เพื่อให้สามารถกลับมาวางไข่ได้ “หากเราทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ เราจะสามารถรักษาบ้านของเต่าทะเล… และบ้านของเราได้”


โกหกคำโต (THE WHOPPER)

DIR. วีระพรรณ ถาวร

ไม่น่าเชื่อว่าในดินแดนมรดกโลก พื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยภาครัฐ ผ่านกรมชลประทานมีโครงการจะทำเขื่อนอีก 7 แห่ง รอบๆพื้นที่ โดยมีคลองมะเดื่อ  เนื้อที่เกือบ 2,000 ไร่ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของการก่อสร้างเขื่อนในแดนมรดกโลกแห่งนี้  โดยคำพูดเดิม ว่าเพื่อสร้างพื้นที่จัดการน้ำ ให้มีความมั่นคง ยั่งยืน และ เกิดประโยชน์ต่อคนในประเทศ   พวกเขาบอกว่าประเทศต้องการน้ำ แต่ทำลายผืนป่าที่กักเก็บน้ำ พวกเขาต้องการความมั่นคงจากทรัพยากรน้ำ แต่ไม่เคยหยุดทำลายระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ในหลายที่ของประเทศ ชาวบ้านนับล้านได้รับผลกระทบจากเขื่อนมาต่อเนื่องยาวนาน  พวกเขาไม่เพียงต่อสู้กับความยากลำบากที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้กับคำโกหกที่ภาครัฐเคยให้ไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า ปีแล้วปีเล่าก็ไม่เคยแก้ปัญหาได้เลย และในตอนนี้ มันก็กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง จากพื้นที่เก่า สู่พื้นที่ใหม่ และใครจะต้านทานไหว หรือจะต้องยอมรับชะตากรรมเดิม.......อีกครั้ง


ผีจากผ้าอ้อม (TWILIGHT WITHOUT GHOSTS)

DIR. ปณิธาน บุณฑริก

เมื่อตำนาน “ผีตากผ้าอ้อม” กำลังจะสูญหายไปเพราะการหลบซ่อนตัวของแมงมุมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพฤติกรรมมนุษย์ที่ตัดขาดความสัมพันธ์ต่อสรรพสิ่งอื่นบนโลก “ผีจากผ้าอ้อม” ไม่เพียงบอกเล่าการสูญเสียสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ แต่ยังโยงไปถึงการสาบสูญของวัฒนธรรมและเรื่องเล่าความเชื่อพื้นถิ่นที่งดงามด้วย



หนังสั้นประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่สารคดี

AVOCADO ON PANCAKES DIR. ชินานาง ธำรงธนกิจการ

แจ๊คกับโรสแอบเป็นชู้กันในบริษัท ทั้งคู่ไปดื่มฉลองที่ร้านอิซากายะกันสองต่อสองและเริ่มมีปากเสียงกัน


《BEASTS OF THE SOUTH》 《南方野兽》

DIR. Xiongyuan Yao

ผลงานชิ้นนี้สะท้อนสภาพแวดล้อมในปัจจุบันผสมรอยช้ำจากวิกฤตและภัยพิบัติทางธรรมชาติในอดีต มันถูกปิดบัง ลบล้าง สร้างใหม่  ผลงานนี้พาเราย้อนชมความเจ็บช้ำของธรรมชาติใน "โลกแห่งภัยพิบัติ" ความเปราะบาง และเศร้าโศกของสรรพสิ่ง ในฐานะผู้ประสบภัยพิบัติ ฉันเลือกที่จะเล่าเรื่องนี้ผ่านแอนิเมชันแนวทดลองเพื่อนำเสนอเหตุการณ์น้ำท่วม และสิ่งที่ฉันเห็นระหว่างเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่


EVERYTHING IS FINE

DIR. อารียา จิตอารี

TEAM: กานต์พิชชา สังเกตุ, เกิดกาญจน์ กุลพัทธ์คุณานนท์, คชาภรณ์ บ่อคำ, ชลธิชา จันทร์ธนาพิพัฒน์, ชิน สุวรรณสิงห์, ชิษณุชา อำทะวงษ์, ชุติมณฑน์ อุ่นศรีเพ็ง, ธัญชนก วงค์หวัน, ณภาพิมพ์ เทียนชัยสิริกุล, ณัฐฏดนัย ศรีสาคร, ถิรนันท์ แสงศรีจันทร์, ธนกรณ์ จำปางาม, ธนกุล จำปางาม, ธัญกมล ลังกาเปี้ย, นภัสนันท์ คำจริง, บูนหลง ออง, ปัญญา อินทสิงห์ , พรทิพา อัตชู, วริศรา ปวงวัฒนา, วิชญาดา วิวัฒน์วานิช, ศรัณยา ชัยเลิศ, ศิรประภา ยะวิลัย, ศุภกานต์ พรหมมาศ

เด็กสาวค้นพบเรื่องจริงของสิ่งแวดล้อมและพยายามเปลี่ยนแปลงเมืองของตน


GLOBAL WARMING, SO WHAT? DIR. คริสตอฟ ปกมล ฟอนคาร์สเต็ดท์

Climate Change Expert มอบความรู้เรื่องโลกร้อนพร้อมมอบแนวทางการยับยั้งปัญหาโลกร้อน ก่อนที่เหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นและเปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล...


HIDE AND SEEK DIR. Rian Apriansyah

ระหว่างที่ซาร์รากำลังเล่นซ่อนหากับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนาน เมื่อถึงตาเขา จู่ๆ ก็มีหมอกหนาปกคลุมทั่วทั้งห้อง เพื่อนๆ ของเขาเริ่มหายตัวไปทีละคน จนกระทั่งร่างสีดำลึกลับปรากฎตัวขึ้นและพยายามทำร้ายเขากับทารกที่อยู่ในบ้านไป!


OLD TIMES

DIR. Chaela Tordillo

ชาวประมงวัยเกษียณกลับมายังบ้านเกิดของเขาที่กำลังจมลงทะเล เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและแผ่นดินทรุดตัว


บันทึกท้องถนน (ROAD OF THE WIND)

DIR. โชติพัฒน์ ศรีวัฒนธันยากร

ในวันที่สายลมเปลี่ยนทิศทำให้ชายชื่อ “วิน” ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับวิญญาณของปู่ได้อีก ขนานกับงานเขียนบทความ “Climate Change” บางทีอาจจะเพราะสภาวะโลกรวน อากาศที่แปรเปลี่ยนไม่ตามฤดูกาล ทำให้สัญญาณการติดต่อระหว่างเขาและปู่ขาดหาย


ROASTED CHICKEN

DIR. Roland Cartagena

บ่ายวันหนึ่งที่อากาศ(โคตร)ร้อน น้ำไม่ไหล ไฟก็ดับ เปโดรออกไปให้อาหารไก่ของพ่อชื่อ 'ซินญอร่า' แต่กลับพบว่าซินญอร่ากำลังจะม่องเท่งจากโรคลมแดด เขาจึงต้องหาทางทำให้ซินญอร่ากลับมาเป็นปกติให้ได้


SIMULATION

DIR. Shin Jungkyun

ทุกองค์ประกอบในพื้นที่สามมิติ ควัน การสั่นสะเทือน ลมและน้ำ สามเทคนิคถูกผสมผสานเพื่อสร้างฉากจำลองภาวะฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ และนำเสนอรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ในภาวะจนตรอก แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อตัวละครที่นี้เริ่มแสดงออกถึงการขบถต่อการเคลื่อนไหวที่มักถูกใช้ในการแสดง


THE BOAT NO. 5 (قایق شماره پنج)

DIR. Reyhane Kavosh

อัลมา เด็กหญิงที่เคยอาศัยอยู่กับครอบครัวริมทะเลสาบ มีความทรงจำที่สวยงามมากมายเกี่ยวกับทะเลและเรือลำน้อยหมายเลข 5 แต่แล้วเธอและครอบครัวต้องอพยพไปยังอีกเมืองหนึ่ง และเมื่อเธอกลับมาที่ทะเลสาบอีกครั้ง เธอก็ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดคิด..


ณ วันที่คลื่นจะกระทบชายฝั่งอีกครั้ง (THE DAY OF A TURNING TIDE)

DIR. อธิพัฒน์ เลิศกรกิจจา ชายหนุ่มคนหนึ่งได้นั่งอยู่ริมกำแพงกันคลื่นด้วยจิตใจที่เจ็บปวดจากความรักที่บอบช้ำ จนเขาได้เจอกับหญิงสาวปริศนาคนหนึ่งเข้ามานั่งข้าง ๆ และได้สนทนากันพลางเดินไปตามสันแนวกันคลื่นที่กำลังก่อสร้างแต่ก็ผุพังไปแล้ว บทสนทนาทำให้ชายหนุ่มได้เรียนรู้ถึงการรับมือกับปัญหาในชีวิต


THE EDGE OF THE SEA

DIR. Rizkia Nurfaiza Kamal

ในงานชิ้นนี้ ฉันพูดถึงประเด็นฟาสต์แฟชั่นซึ่งส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไรในยุคแอนโทรโพรซีน ยุคที่มนุษย์ถือว่าตนเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเกินความจำเป็น โดยไม่คำนึงถึงอนาคตที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


THE LAST RECALL DIR. ธนิน สุเมธาศร

เรื่องราวของ “ปริญ์” เด็กชายผู้สูญเสียแม่ในเหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ ได้ผ่านความเป็นความตายจากการล่มสลายของระบบนิเวศ จนทำให้อาหารขาดแคลน สำหรับปริญ์แล้ว การที่ต้องอยู่คนเดียวและใช้ชีวิตในโลกแบบนี้มันไม่ง่ายเลย วันเวลาผ่านไปปริญ์ก็ได้เรียนรู้ว่าสาเหตุนั้นล้วนมาจากฝีมือมนุษย์เองทั้งนั้น


THE LAST TREE (SON AĞAÇ)

DIR. Zülfü Gül

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อต้นไม้ต้นสุดท้ายบนโลกถูกตัดลง?


THE SWALLOWING SEA DIR. Afif Fahmi

หลังจากผ่านไป 11 ปี อาร์กา คนทำหนังสารคดี ได้กลับมายังหมู่บ้านในวัยเด็กของเขาที่กำลังจะจมอยู่ใต้น้ำ เพื่อมาไหว้หลุมศพของคุณย่า


THE VOICE OF THE WIND

DIR. Duy Thanh Tran

หนังสั้นเรื่องนี้พาผู้ชมไปสำรวจรอยร้าวระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและความท้าทายที่เราเผชิญเมื่อเราเลือกที่จะเพิกเฉยต่อเสียงของธรรมชาติ


ฝนแล้ง (WATSAKAN)

DIR. ประกาศิต สอดศรี

ผู้ใหญ่บ้านของชุมชนในจังหวัดยโสธรได้เผชิญกับปัญหาภัยแล้งในฤดูฝน และต่อสู้กับรัฐบาล เพื่อหาวิธีนำน้ำมาช่วยเหลือชาวบ้านทำนาแต่ไม่สำเร็จ พวกเขาจึงจุดบั้งไฟขอน้ำจากพยาแถน แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาต้องมาแก้ปัญหาจาก "ไฟ" ที่ตกลงมาจากฟ้า


ทฤษ 'ดี' 3 ป.

DIR. ณัฐวิภา ภักดีใหม่

เมื่อฝนไม่ตกตามฤดูกาลมนุษย์จึงขอฝนกับเทวดา เทวดาจึงแนะนำวิธีที่จะทำให้สภาพอากาศคืนสู่สมดุล นั่นก็คือการทำตาม ทฤษ 'ดี' 3 ป.


โลก(จิต)

DIR. กวินท์ ศรีประเสริฐ, สุวพักตร์ ชุมคำน้อย ลม ชายผู้มีอาการป่วยทางจิต และวิธีแก้ปัญหาทางเดียวของเขาก็คือ การทำให้สิ่งรอบตัวของเขาดีขี้น ”ดั่งใจหวัง“


เกี่ยวกับเทศกาล CCCL

เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2562 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่และชุมชนในประเทศไทยและต่างประเทศได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชนแรงบันดาลใจ พลังร่วม หรือนวัตกรรมในการรับมือต่อวิกฤตินี้ ทางเทศกาลฯ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปี เช่น การประกวดหนังสั้นประจำปี ฉายหนังร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดอบรมการเล่าเรื่องผ่านหนังสั้น เสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาพยนตร์ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้เยาวชนและสังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการรับมือต่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คนทำหนังรุ่นใหม่จากประเทศไทยและอาเซียนสามารถส่งโครงการทุกประเภทเข้าชิงทุนทำหนังสั้นที่มีความเชื่อมโยงกับวิกฤติโลกรวนได้ทุกปี ช่วงหลังเทศกาลฯ ใหญ่ประจำปี

bottom of page