CCCL FILM TOURs 2022

27 สิงหาคม 13:00 - 21:00 น.
My Space (มหาสารคาม)
ดูหนัง + พูดคุย + แลกเปลี่ยนมุมมองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ชวนคุณมาร่วมแลกเปลี่ยนและสำรวจมุมมองต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านภาพยนตร์และร่วมสนทนา “เสียงสะท้อนจากคนหลากกลุ่ม: เขื่อน แล้ง แรงงาน” ร่วมสนทนาโดย ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, คุณธนวัฒน์ ตาลสุข, ดร.จตุพร เทียรมา, คุณส.รัตนมณี พลกล้า
ตารางกิจกรรม
13:00 - 14:30 น.
โปรแกรมหนังสั้นจากเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน
15:00 - 17:00 น.
Climate Roundtable เสียงสะท้อนจากคนหลากกลุ่ม: "เขื่อน แล้ง แรงงาน"
17:00 - 18:00 น.
พบปะพูดคุยและพักรับประทานอาหารว่างฟรี
19:00 - 21:00 น.
ฉายหนังสารคดีเรื่อง I AM GRETA
วิทยากร

ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.ไชยณรงค์ยังเป็นผู้ก่อตั้งงานวิจัยไทบ้านและมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหลายบทความ อ.ไชยณรงค์มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขงมากกว่า 30 ปี

คุณธนวัฒน์ ตาลสุข
ธนวัฒน์ เป็นนักวารสารศาสตร์ มีประสบการณ์ด้าน producing และ creative content เขาสนใจเรื่องราวของคนชายขอบและหลงรักการผจญภัยแดนต่าง ๆ ตัวอย่างผลงานของเขา เช่น ห่มปุ๋ย ขยะสร้างความคิด ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการประกวดสารคดีสั้น 7hd New Ideas Contest ปี 2 เป็นต้น

ดร.จตุพร เทียรมา
ดร.จตุพรได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จตุพรมีผลงานวิชาการ หนังสือ และงานวิจัยมากมาย อาทิเช่น หนังสือ “เกษตรยั่งยืน ความหวังสร้างโลกเย็น: พลิกวิกฤตโลกร้อน ด้วยวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน” ซึ่งเขียนร่วมกับคุณพุทธิณา นันทะวรการ เป็นต้น ปัจจุบันดร.จตุพรเป็นอาจารย์ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คุณส.รัตนมณี พลกล้า
คุณส.รัตนมณี เป็นทนายความและผู้จัดการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ชุมชนในด้านสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนและสิทธิในสิ่งแวดล้อม
โปรแกรมหนังสั้น

เบื้องหลังกำแพง (BEHIND THE WALL)
ชนม์ชนก ธนัสทีปต์วงษ์
โรสนี นูรฟารีดา หรือ ‘ดะห์’ กวีสาวชาวมุสลิม ผู้เคยเขียนบทกวีรวมเล่มจนได้เข้าชิงและเป็น Shotlisted รางวัล S.E.A. Write ในปี 2016 กำลังหาแรงบันดาลใจเพื่อแต่งกวีเกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่งและโครงสร้างแข็งกันคลื่นในสงขลา จังหวัดบ้านเกิดของเธอเอง ทว่าคอนกรีดต่าง ๆ ที่สร้างเพื่อป้องกันการกันเซาะ แต่กลับทำให้เกิดการกัดเซาะด้านข้างมากขึ้น ภาพยนตร์เรื่อง ‘เบื้องหลังกำแพง’ ร้อยเรียงบทสัมภาษณ์ของผู้คนสลับกับบทกวีที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อนำเสนอสัจธรรมของธรรมชาติ

ผีตาแฮก สารพันวัฒนธรรมข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ (JOURNEY OF WISDOM)
ธนวัฒน์ ตาลสุข
ความเชื่อและความศรัทธาในเรื่อง ‘‘ผีตาแฮก’’ ประเพณีท้องถิ่นเกี่ยวกับการปลูกข้าวของชาวบ้านกู่กาสิงห์ จังหวัดร้อยเอ็ด สะท้อนให้เห็นการเคารพบูชาผืนดิน ซึ่งสอดคล้องกับการดูแลรักษาธรรมชาติและระบบนิเวศที่ซับซ้อนของดิน การดูแลรักษา ‘ดิน’ คือหนึ่งหนทางในการปกป้องและซ่อมแซมดินที่เสื่อมโทรมจากภัยคุกคามต่างๆ เช่นเดียวกับพิธีการสักการะบูชา ‘ผีตาแฮก’ ที่ช่วยหล่อหลอมใจผู้คนให้มีความกตัญญูและสำนึกในบุญคุณต่อธรรมชาติ

LICHENS
การันตร์ วงศ์ปราการสันติ
ในช่วงเวลาที่ นัท ลูกชายคนเดียวของ วาสนา กำลังป่วยจากมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เขาอยากจะเดินเข้าป่ากับแม่เพื่อที่จะกลับไปหาความทรงจำของทั้งคู่ที่มีต่อพ่อ ซึ่งเป็นความทรงจำที่ทำให้ทั้งสองรู้สึกถึงความรักและเจ็บปวดในเวลาเดียวกัน

เสียงกลางนา (SOUNDS OF THE FIELD)
ปภพ แสงคง
สารคดีบันทึกบทสนทนาระหว่างการทำนา ของชาวห้วยหูด อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์

โลกร้อนคือไรพี่โลกร้อนแก้ไงป้า (MOTHER OF EARTH IS CRYIN’)
ธิดารัตน์ วีระนะ, อิทธิกร นุติแก้วมงคล ปูน สิรภพ
สารคดีล้อเลียนบอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มสามคนที่ทำหนังสารคดีเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนเพื่อส่งประกวด

THE PERFECT LI(F)E
ภูมิชญณัฐ มิตรธีรโรจน์
เรื่องราวของหญิงสาวไฟแรงคนหนึ่งที่ยอมทุ่มเททุกอย่างทั้งเวลาและสุขภาพเพื่อสร้างอนาคตที่ฝันไว้ให้เป็นจริง ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สวย จนกระทั่งเธอสังเกตว่าหอพักที่ตัวเองอยู่เริ่มมีงูเข้ามาบ่อยขึ้น เธอไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร แต่หารู้ไม่ว่ามันคือสัญญาณบอกว่าทุกอย่างในโลกกำลังเปลี่ยนไป รวมทั้งชีวิตของเธอ

คน-ป่า (WE AND THE WOODS)
วีระพรรณ ถาวร
ท่ามกลางโลกของการพัฒนาคนส่วนใหญ่ตกอยู่ในวังวนของความโลภ กลุ่มชนเผ่าปกาเกอะญอกลุ่มหนึ่ง กำลังหาหนทางในการรักษาและสานสันติกับธรรมชาติ ผ่านพิธีกรรมประจำปีที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายพันปี

TEMPERATURE
เมธัส จันทวงศ์
TEMPERATURE เป็นภาพยนตร์ทดลองที่นำเอาองค์ประกอบ ทั้งฟุตเทจ ภาพถ่ายและแอนิเมชันมาซ้อนทับกัน ให้เกิดพื้นผิวและอุณหภูมิสีที่แปลกตา เพื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิอากาศ โดยเล่าผ่านวิถีชีวิตผู้คนในแต่ละวัน ที่ปล่อยคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ ออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการใช้ชีวิตของเรานั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตลอดหลายปี แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถหยุดการดำรงอยู่ของเราได้ ทางออกจึงเป็นเรื่องความรับผิดชอบและตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา
กิจกรรมฉายหนังสารคดี I Am Greta
สารคดี I AM GRETA เป็นผลงานของผู้กำกับชาวสวีเดน นาธาน กรอสแมน ที่บอกเล่าเรื่องราวของนักเคลื่อนไหว ทางด้านสภาพภูมิอากาศชื่อก้องโลก เกรียตา ทุนแบร์ย ผ่านฟุตเทจที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ทั้งมุมที่แข็งแกร่งและอ่อนไหวของเธอ ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านเธอ I AM GRETA นำเสนอการเดินทางของเกรียตาจากประเทศสวีเดนไปยังมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนการออกมาแสดงจุดยืนของเธอสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทั่วโลกลุกขึ้นมา เรียกร้องต่อรัฐบาลและสังคมให้ตระหนักต่อความสำคัญของวิกฤติโลกร้อน
Presented in collaboration with