Meet the Artist
สุภชัย อุดคำ
เจ๋ง นักเรียนจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ที่มีความสนใจทางด้านการพัฒนาเยาวชนและสังคม และสามารถนำเสนอความรู้ด้านการพัฒนาผ่านการเขียนและการพูดโดยมีแนวความคิดของตนเองที่ว่า “ฉันมีเป้าหมายที่จะพัฒนาตนเองจนกระทั่งมีความรู้และความลึกซึ้งในด้านความคิดและการทำงาน สามารถที่จะใช้ทักษะที่มีไปพัฒนาสังคมได้อย่างมีคุณภาพและรวดเร็ว และฉันเป็นกบเหลาที่เหลาดินสอทุกแท่งให้แหลมคมเพื่อใช้เขียน ใช้วาด ใช้สร้างสรรค์สังคมที่ดีอย่างที่ผู้คนต้องการ แล้วใช้โลกเป็นเวทีในการแสดงผลงาน” ซึ่งจากการทำงานอย่างมีความเพียรพยายามทำให้เขาได้รับพระราชทานรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาพัฒนาเยาวชน บำเพ็ญประโยชน์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน ซึ่งปัจจุบันเขาก็ยังดำเนินตามเป้าหมายของเขาอย่างต่อเนื่อง
แสดงความคิดเห็นต่อผลงาน
บทสัมภาษณ์สุภชัย อุดคำ (เจ๋ง)
22 กรกฎาคม 2564
ไอเดียและแรงบันดาลใจของงานชิ้นนี้ ?
ชื่อหนังสือมันคือ “เอกภพของสิ่งแวดล้อม” คือ เรามีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าเรามีต้นกำเนิด หรือจริงๆ แล้วต้นกำเนิดของธรรมชาติคืออะไร ในมุมมองของเจ๋งและทีมงาน เราอยากสื่อสารว่าลักษณะการเกิดขึ้นมาของสิ่งต่าง ๆ บนโลกเนี่ย ธรรมชาติ สิ่งที่เราสร้างเอง สิ่งที่มันเกิดขึ้นล้วนแต่มีผู้ที่เป็นผู้กระทำเสมอ ทุกอย่างมีการกระทำ ทุกอย่างมีการกระทบ และสิ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อเรารู้ว่าเราตระหนักในการกระทำ แล้วเราจะมีการแก้ปัญหามันหรือว่าเราจะส่งเสริมให้มันดีขึ้นอย่างไร
การกระทำสิ่งต่างๆ ของคนบนโลกเนี่ย เรามีการกระทำที่ดี และการกระทำที่ไม่ดี
โดยเฉพาะต่อสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิด climate change เนี่ย คนเราก็กระทำทั้งดีและไม่ดีในสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน หนังสือเล่มนี้จึงสื่อสารว่าทุกคนมีการกระทำที่ดีและไม่ดีพร้อม ๆ กัน ในเวลาที่คุณมีชีวิตอยู่ เราต้องตระหนักว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันถูกต้องหรือเปล่า แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะทำอย่างไรเมื่อเรารู้ว่ามันไม่ถูกต้อง หรือเมื่อรู้ว่าสิ่งที่เราทำไปแล้วนั้นแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นอดีต
แต่เรากำลังจะมาสร้างปัจจุบันไปด้วยกันผ่านแนวคิดต่าง ๆ องค์ความรู้ และปัญหาที่เราเจอ
ทำไมเราถึงเลือกงานเขียน และไอเดียที่เน้นเรื่องการกระทำของมนุษย์ ทำไมอยากสื่อสารเรื่องนี้ ?
อย่างที่บอกว่าการกระทำของมนุษย์มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการกระทำ หรือไม่มีการริเริ่ม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมันก็จะไม่เกิดอะไรเลย หากพูดถึงทฤษฏีที่ผมให้ความชื่นชอบคือ ทฤษฏีของคุณ Isaac Newton ที่กล่าวถึงกฏ action = reaction ทุกอย่างมันเป็นวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ดังนั้นเราอยากให้ทุกคนเห็นว่าการกระทำเมื่อเกิดการริเริ่ม มันจึงเกิด reaction [การตอบสนอง] ยิ่งเราส่งเสริมให้คนรู้จักการกระทบ มีการสะเทือนใจมากที่สุด สิ่งที่เห็นได้มากที่สุดคือ คนได้ตระหนัก และวิธีที่ผมคิดว่ามันทำให้เกิดการตระหนักได้มากที่สุดคือ การอ่าน วิธีการอ่านเป็นวิธีที่มนุษย์สามารถเก็บรายละเอียดหรือองค์ความรู้ผ่านตัวอักษรได้มากที่สุด เป็นสิ่งที่เราประสบแล้วมันยังมีองค์ความรู้นั้นอยู่ ที่ยังไม่สูญหายไปไหน
หากมองงานเขียนในหนังสือเอกภพของสิ่งแวดล้อม งานเขียนของเราเป็นของเยาวชนทั้งหมด และจะมีมุมมองการเขียนที่แตกต่างกันออกไป เราได้แบ่งไว้เป็น 5 ตอน แต่ละตอนก็เล่าไม่เหมือนกัน แต่เรียงลำดับต่อกันทั้งหมด ตอนที่ 1 พูดถึงความคิดของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตอนที่สำคัญในการพูดถึงลักษณะการคิดของมนุษย์ ตอนที่ 2 การกระทำของมนุษย์ คือการเล่าต่อจากตอนแรก สิ่งที่มนุษย์คิดคือสิ่งที่มนุษย์เจอ สิ่งที่เราเจอคือ
สิ่งที่มีคนริเริ่มทำมาแล้ว ตอนที่ 3 ผลของการกระทำ หรือการกระทบ เป็นตอนที่เล่าว่าหากมนุษย์กระทำแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไร เช่นบทกวีเรื่อง “ฟ้าของนก” ไม่ได้กล่างวถึงผลกระทบที่มนุษย์เจออย่างเดียว แต่ยังกล่าวถึงสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติที่เจอผลกระทบ ผู้เขียนจะสื่อว่าหากเราเป็นนกเราจะรู้สึกอย่างไร มันเลยทำให้เรามีมุมมองที่ผลกระทบเกิดกับมนุษย์เอง เกิดกับสิ่งแวดล้อม และเกิดจากสิ่งต่างๆ สังคม เศรษฐกิจ เป็นต้น ตอนที่ 4 ชวนคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้แก้ปัญหาได้ เปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือกระทำอย่างไรต่อจากนี้ไป ที่มันเป็นบวกหรือเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ในตอนนี้ หลายบทกวีพูดถึงการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และเชิงนโยบาย ตอนที่ 5 เป็นตอนที่สรุปประเด็นทั้งหมด ให้เป็นเชิงของความคิดและตรรกะทางวิทยาศาสตร์ เป็นทฤษฏีแนวคิด หากเราเป็นผู้ที่คิดแล้ว เห็นผลการกระทำแล้ว เห็นการกระทบแล้ว และเห็นวิธีการกระทบแล้วเราจะสรุปความคิดหรือเป็นเรื่องสั้นๆ อย่างไร ก็เลยเกิดเป็นตอนที่ 5
ในตอนที่กล่าวถึงทฤษฎีบุคคลสำคัญของการบูรณาการการเรียนรู้ของตัวเอง[ตอนสุดท้าย] ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าหากคุณอยากเป็นคนที่มีพรสววรค์หรือเป็นฮีโร่ของผู้อื่น ฮีโร่ในใจตัวเอง หรือคุณต้องการที่จะพิทักษ์สังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีงาม คุณต้องมีคอนเซ็ปท์ของตัวเอง ทั้งตัวความคิดเองและการนำความคิดนั้นไปลงมือทำ นำไปลงมือทำด้วยความเพียรพยายาม จนนำไปสู่การพัฒนาสังคมโดยใช้การคิดอย่างมีคุณภาพ คุณก็จะพัฒนาสังคมอย่างมีคุณภาพ
นี่คือคอนเซ็ปท์ที่สรุปรวมให้เห็นถึงหนังสือเล่มนี้แล้ว สามารถนำไปใช้ได้จริงด้วย
ผู้อ่านเป็นได้ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ในองค์กรต่าง ๆ ที่อาจจะได้แนวคิด นโยบาย หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่มีความชัดเจน ในแต่ละเรื่องนั้นมีความละเอียดของมัน
กระบวนการในการทำงาน ? ในฐานะคนที่เร่ิมต้นไอเดียของหนังสือนี้และได้ทำงานกับคนที่หลากหลายความคิด เราเจอปัญหาอะไรบ้างไหมในการรวบรวมผลงาน ?
ในงานรวมเล่มนี้ ถึงแม้ไม่ได้มีคอนเซ็ปท์ที่มากมายและซับซ้อน หรือใช้ลักษณะ[ทักษะ]อะไรที่ขั้นสูง หรือถึงจะเป็นงานเขียนของเยาวชนกลุ่มหนึ่งเองก็ตาม แต่สิ่งที่ได้เจอนั้น เราเจอปัญหาเกือบทุกขั้นตอนในการทำงาน เราทำหนังสือรวมวรรณกรรม เราก็ได้เรื่องราวและความคิดที่หลากหลายจากคนในต่างพื้นที่ แต่เราก็ต้องทำให้หนังสือเล่มนี้มันมีแนวคิดที่สอดคล้องกัน มันจึงยากมากที่จะทำให้หนังสือวรรณกรรมหนึ่งเล่มสอดคล้องกันไปทั้งหมด โดยเฉพาะนักเขียนที่เกิดจากนักคิด ผมมั่นใจว่าทุกคนบนโลกมีความคิดที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียวเพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์ ทุกคนมีความคิด จินตนาการที่หลากหลาย เราจึงได้ความคิดที่แตกต่างและมุมมองทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่าง ในความแตกต่างนี้ก็มีข้อดีคือเราได้แนวคิดคนหลายมุม เราไม่ได้เห็นเพียงป่าไม้ เราเห็นสังคมในบริบทกรุงเทพด้วย นอกจากนี้เราได้จินตนาการและวิธีการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายมากมายในการระดมความคิดกัน
ในบทกวีนี้ส่วนใหญ่ เราเจอบทกวีที่ทุกคนจะใช้ความคิดของตัวเอง ซึ่งผมสรุปไว้ว่ามันน่าจะเกิดมาจากสองอย่าง อย่างแรกคือความคิดที่เกิดจากการประสบพบเจอจริงๆ ส่วนนี้คือข้อเท็จจริง อย่างที่สองคือความคิดเห็นหรือการเสนอแนวคิดในความคิดของตัวเอง ซึ่งบทกวีหนึ่งเรื่องจะให้มีแค่ข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ มันก็จะไม่มีความสวยงานในเรื่องของการเขียน ถ้าจะให้มีเพียงข้อคิดเห็นอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราก็เลยมีวิธีการแก้ปัญหาโดยในชุดแรกที่รับสมัครเข้ามา เป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการเขียนบทกวีอยู่แล้ว เราก็ทำการระดมความคิดเห็นร่วมกัน นั่งคุยกัน ทำเวิร์กชอปด้วยกันหนึ่งครั้งก่อนที่จะเขียนจริง เพื่อสำรวจว่าทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไร และข้อมูลที่ทุกคนจะนำมาเขียนนั้นเป็นข้อมูลที่จริงหรือเปล่า เพราะเราพูดถึงมุมมองหลายมุมมอง เราจะเจอทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วย โดยได้รับการตรวจสอบจากคณาจารย์หลายท่านว่าข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ถูกไหม หรือเชิงอักษรศาสตร์ถูกไหม
ในส่วนของชุดที่สอง เรารับคนจากเชียงใหม่ทั้งหมด อาจจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยมีผลงานด้านการเขียนเลยแต่มีแนวคิดที่โอเค เราก็รับเข้ามา ตอนนั้นก็เกิดปัญหามีคนสมัครมาเยอะมาก เราก็ต้องกลั่นกรองทั้งแนวคิดและฉันทลักษณ์ของงานเขียน ซึ่งเป็นงานหนักมากสำหรับทีมงาน บางคนมีแนวคิดที่ดีมาก แต่ไม่มีประสบการณ์ด้านการเขียนเลย แต่เราต้องการแนวคิดที่มีคุณภาพและหลากหลาย ทีมงานจึงไม่ปัดหลาย ๆ เรื่องทิ้งไป เราจึงมีการกรองรอบที่สองหรือมีการให้ผู้ที่สมัครที่เขียนเข้ามาแล้วนำไปปรับใหม่ ในกรณีของคนที่มีแนวคิดที่น่าสนใจแต่ไม่เคยมีผลงานเขียนมาก่อน เราเคยต้องให้เขาปรับถึง 9 ครั้ง รวมถึงทีมงานเองก็ต้องเขียนด้วย บางคนก็ไม่ได้เขียนเก่งอะไรมากมาย ก็ต้องมีการเรียน การปรึกษากันกับทางคุณครูด้วยเพื่อให้ได้งานเขียนที่ดีกว่าที่ทุกท่านจะได้เห็นงานเขียนเรื่องเอกภพของสิ่งแวดล้อม ทุกเรื่องได้รับการกรองถึง 4 ครั้ง จากทั้งหมด 200 กว่าผลงาน จนมาเป็นหนึ่งเล่มที่ท่านได้เห็น แล้วหนึ่งเล่มนี้ก็ได้มีการตรวจทานกว่า 4-5 ครั้ง ทั้งหมดนี้ก็คือตอนที่รับผลงาน
พอมาถึงตอนรวมผลงาน ทุกคนมีความคิดที่ดีแล้วมีการเขียนที่ดีแล้ว แต่ก็มีประเด็นที่เกิดขึ้นอีก พอเอามารวมกันปรากฏว่าแต่ละคนก็มีการเขียนที่แตกต่างกันไปอีก บางคนก็เขียนความคิดเห็นเยอะมาก เราก็เลยมาคิดกันหนักว่าเราจะทำอย่างไรให้เล่มนี้อ่านไม่น่าเบื่อ ให้คนอ่านสามารถเข้าใจได้ เราก็เลยแก้ปัญหาโดยการให้ทีมงานทุกคนมานั่งอ่านรวมกัน ทีมงานทั้งหมด 5 คน ทุกคนต้องมาอ่านด้วยกันทั้งหมดเพื่อที่จะจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจน กว่าจะได้ขนาดนี้ทีมงานก็ต้องนั่งอ่านเพื่อให้ได้ประเด็นและสรุปเป็นหมวดให้เข้าใจง่ายขึ้น นอกจากนี้ตอนที่เราจะเผยแพร่ผลงาน ก็มีเรื่องการเผยแพร่ผลงานว่าเราจะเผยแพร่อย่างไรให้คนมีการสนใจในการอ่านมากขึ้น เผยแพร่ทางช่องทางไหนบ้าง จึงต้องรับทีมงานที่มีความชำนาญเกี่ยวกับทางเทคนิคเพิ่มขึ้น รวมถึงทีมงานที่ทำเกี่ยวกับภาพถ่ายด้วย ก็มีทีมนี้ไปลงพื้นที่ไปถ่ายภาพจริงในชุมชนด้วย มีการลงมือทำเป็นไฟล์ PDF และ E-Book และกระทั่งการทำเป็นหนังสือครับ แม้กระทั่งการทำเป็นหนังสือที่เราต้องติดต่อกับสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้อ่าน
ทีมงานอายุประมาณเดียวกันไหม ?
ทีมงานทุกคนอายุราว 15-18 ซึ่งในการกรองทีมงานที่มีคุณภาพในการทำหนังสือวรรณกรรมนั้น เรามีทีมงานหลากแผนก แผนกหลัก 5 คน มีแผนกเสริมและผู้ช่วยกันอีกครับ
อยากให้ช่วยอธิบายภาพกว้าง ๆ ของการทำงานในเครือข่าวเยาวชนและการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม
ผมเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งที่ทำงานขับเคลื่อนในหลายๆ มิติของประเทศ ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ประชุมและนำเสนอผลงานในเรื่องสิ่งแวดล้อม ครั้งแรกที่มีการขับเคลื่อน ผมเป็นตัวแทนของจังหวัดในการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแแวดล้อม ซึ่งผมได้ขึ้นไปพูดเกี่ยวกับปัญหาที่เยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่พบเจอ ปัญหาที่เราเจอในเรื่องสิ่งแวดล้อมมันชัดเจนมาก
ผมยังเป็นสมาชิกของสภาเด็กและเยาวชนเชียงใหม่เช่นกัน หลังจากที่ผมได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ มีเพื่อนๆ ที่ให้ความเห็นใจเป็นอย่างมาก เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนเชียงใหม่ก็เริ่มพูดคุยเรื่องนี้กัน ไม่เพียงแค่ในอำเภอเมือง แต่ในอำเภออื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยครับ ทั้ง 25 อำเภอ ทุกอำเภอจึงมาสมาชิกของสภาเด็กและเยาวชนเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม สภาเด็กฯ แต่ละอำเภอก็มีการทำกิจกรรมที่แตกต่างกันใน ในส่วนของจังหวัดเองก็มีการติดตามและสร้างความสัมพันธ์ในระดับอำเภอ ระดับตำบล ในเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จากนั้นผมก็มีโอกาสได้ขับเคลื่อนงานของประเทศ ทำกิจกรรมแสดงความคิดเห็น เอาองค์ความรู้และปัญหาที่พบเจอทั้งหมด ทั้งสิ่งแวดล้อม การตั้งครรภ์ ความรุนแรง ไซเบอร์บูลลี่ เอาปัญหาเหล่านี้มาคุยกันระดับประเทศ เป็นการประชุมสภาเด็กและเยาวชนของประเทศ ก็มีโอกาสได้เจอเครือข่ายที่มีความเห็นที่ตรงกันและมีมุมมองที่คล้ายคลึงกันเยอะมาก
สำหรับการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม อยากจะบอกกับทุกคนว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่เด็กและเยาวชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากถึงมากที่สุด ในวันที่ผมประชุมครั้งนั้น กลุ่มที่ระดมความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมมีคนสนใจเยอะมาก แสดงให้เห็นว่าเยาวชนก็พบเจอผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน
อีกกลุ่มหนึ่งคือ นักเรียนทุนการศึกษาพระราชทานซึ่งก็เป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการแสดงความคิดเห็น และมีความสามารถในเรื่องงานเขียนอยู่แล้ว จึงชวนกลุ่มนี้มาร่วมงานด้วย มีเพื่อนจากหลากหลายพื้นที่และองค์กร ผมเลยมองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำผลงานขิ้นนี้คือการที่เราได้พบกับคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะเครือข่ายเด็กและเยาวชน มันจึงสะท้อนให้เห็นว่าพลังเยาวชนมันเป็นไฟที่ปะทุอยู่ในตัวเยาวชนมันพร้อมที่จะระเบิดและแสดงตัวออกมาเพื่อให้คนเห็นประกายไฟนั้นว่าทุกพื้นที่มีพลังของเยาวชนให้เห็นเสมอ แต่เพียงวันนี้เรากำลังหาทางที่ทำให้คนได้เห็นถึงประกายไฟ แต่นี้พอได้เจอโครงการ CCCL มันก็เป็นโอกาสที่จะทำให้แสดงคติและความคิดของเยาวชนขึ้นมา
สำหรับเยาวชนเมื่อก่อนเราเป็นเหมือนพื้นที่หรือกระดาษแผ่นหนึ่งที่ให้คนมาเติมเต็ม ใช้ดินสอ ปากกา และสีช่วยสร้างเรา แต่เราในนามของทีมงาน ในนามของแกนนำและเครือข่ายที่จะพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ตรงนี้เราไม่ได้เป็นเพียงกระดาษนะครับ แต่เรากำลังจะเป็นจิตกร วิศวกร นวัตกร ที่จะช่วยกันสร้างผลงาน นวัตกรรม และสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้คนได้เห็นถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น
เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในกลุ่มเยาวชนมั้ย ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา 2-3 พลังของเยาวชนเปลี่ยนแปลงไปในแนวไหมไหม ?
ในอดีตและปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนกันเลยคือเวลา และเวลาที่มันไม่เหมือนกันนี่แหละทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการของพลังเยาวชนเยอะมากขึ้น ยิ่งทุกคนได้เห็นในปัจจุบัน ถ้าเมื่อก่อนเวลาเจอองค์กรเพื่อน ๆ ที่เป็นแกนนำ สิ่งที่เราเห็นคือเรามองว่าเยาวชนมีแนวคิดและความสามารถ เวลาเราก็มี สิ่งที่เราไม่มีหรือแตกต่างจากปัจจุบันคือ ความกล้าที่ออกมานำเสนอแต่ละมิติที่เกิดขึ้น ไทม์ไลน์ในสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้ผมเห็นว่าวิวัฒนาการของการระดมพลังของเยาวชนเนี่ย มันมีพลังมากขึ้น ผมเป็นคนหนึ่งที่เจอเพื่อน ๆ แล้วก็ต้องตกใจครับ เพราะว่าทุกคนไม่ได้รอแค่เวทีให้นำเสนอ แต่ตอนนี้ทุกพื้นที่ในสังคมถือเป็นเวทีที่เยาวชนได้แสดงความคิดเห็น บนถนนหนทางที่วางก้าวทุกอย่างถือเป็นสิ่งที่เยาวชนสามารถแสดงความคิดเห็นและทัศนคติได้ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าทุกพื้นที่ทุกอย่างที่เยาวชนเห็น เป็นสิ่งที่เขาแสดงพลังและความคิดเห็นของเขา[ต่อสิ่งนั้น ๆ ] ได้ สิ่งที่สำคัญคือมันทำให้เราเห็นว่าเด็กทุกคนให้ความสำคัญกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่เพียงแค่การศึกษา การเดินทาง สภาพอากาศหรือเรื่องที่เขาพบเจอ สิ่งที่เยาวชนพบเจอไม่เพียงแค่สิ่งที่เขาประสบพบเจอจริง ๆ จังๆ ในพื้นที่จริงๆเท่านั้น สื่อออนไลน์มันทำให้เราได้เห็นอะไรที่กว้างขึ้น ดังนั้นสื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เยาวชนมีมุมมองกว้างขึ้นและแสดงความคิดเห็นได้กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องการแพทย์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นต้น แล้วนวัตกรรมใหม่ๆ ก็เกิดจากเยาวชนที่นำไปใช้ได้จริงในอนาคตด้วย
มุมมองในเรื่อง climate change เปลี่ยนไปไหมก่อนและหลังทำงานชิ้นนี้?
ต้องขอบคุณทางทีมงาน CCCL ที่ได้จัดกิจกรรมที่ดีเช่นนี้ขึ้นมา มุมมองที่เกิดขึ้น ได้มีมุมมองที่กว้างขึ้น มุมมองที่ชัดเจนและละเอียดขึ้น ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ผมจะกล่าวว่าการที่เราเก็บประสบการณ์เยอะหรือเจออะไรเยอะ ลงมือทำอะไรเยอะ เป็นสิ่งที่สำคัญครับ แต่สิ่งที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือทุกอย่างที่เราได้เก็บเกี่ยวและลงมือทำ มันมีความละเอียด มีความลึกซึ้ง และซับซ้อน และมันเห็นภาพกว้างขึ้น กว้างลึกละเอียด ทุกอย่างจึงมีการกระทบที่ดีขึ้น รวมถึงมีความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
ตอนนี้ผมอายุ 18 และคนอื่นที่อายุต่ำกว่า 18 สิ่งที่เขาประสบก็ตอนแค่อายุ 18 ผมอายุ 18 ปี ผมไม่สามารถมีความรู้อายุ 19 ปีในตอนนี้ได้ ดังนั้นเราจึงทำให้เห็นว่า 18 ปีที่ผ่านมาเนี่ย สิ่งที่เขาได้เจอในปัจจุบันเนี่ย ครั้งแรกที่เราเจอ ประสบการณ์ที่เราเห็น เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ง่าย รวมถึงเห็นอะไรที่จับต้องได้ เรามองว่าสิ่งแวดล้อมก็คือฝุ่น บรรยากาศที่เรามองเนี่ยแหละ ต้นไม้ที่โดนตัด PM2.5 หรือแม่น้ำเน่าเสีย เครื่องปรับอากาศ เรามองอะไรที่ชัดเจน ที่ไม่ได้กว้างและครอบคลุมอะไรถึงขนาดนั้น จนกระทั่งผมและทีมงานได้มีโอกาสมาทำงานตรงนี้ อย่างที่ในหนังสือนี้บอกว่า ยิ่งคุณเจอการกระทำมาก ยิ่งคุณมีคุณภาพในความคิดมาก ยิ่งคุณมีความเพียรมาก เนี่ยแหละเป็นสิ่งที่ทำให้เราลงมือทำผลงานนี้ ทำให้เรามีองค์ความรู้มากขึ้นและทำให้เราได้เข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น มันไม่ใช่เพียงสิ่งที่เราเจอประจำวันแล้ว ไม่ใช่เพียงภูมิศาสตร์ในพื้นที่เชียงใหม่ที่เราเจอแล้ว อย่างน้อยวันนี้ทีมงานและผมเองได้รู้สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างน้อยก็หนึ่งประเทศแล้ว ซึ่งมันกว้างมาก ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ผมไม่ได้รู้แค่จังหวัดเชียงใหม่ ผมรู้ถึงสิ่งที่ทั่วประเทศเกิดขึ้น มุมมองเรากว้างขึ้นเยอะ ผลงานที่เราเขียนเราไม่เขียนเพียงความคิดเห็นอย่างเดียว ทุกอย่างมันคือองค์ความรู้และการอธิบายให้คนเข้าใจ เราก็เข้าใจด้วย คนอ่านก็เข้าใจ ยิ่งเรารู้มากขึ้นก็เกิดความลึกซึ้งมากขึ้น และเราซาบซึ้งมัน เรารู้มากและมีพื้นที่ที่เราศึกษามาก เราก็มีประสบการณ์และความรู้ที่กว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเองและอย่างอื่นที่เป็นผลพลอยได้
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราเจอคือทุกคนได้มีบทบาทในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การที่เราได้มาทำวรรณกรรมร่วมกับกิจกรรม CCCL มันทำให้เราได้เห็นและได้พบกับอะไรที่มันสำคัญ ที่เราเรียกว่าบทบาทของเยาวชนในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อก่อนเถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลย อย่างน้อยเราก็คือนักเรียนคนหนึ่งที่เห็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่วันนี้เราไม่ได้เป็นแค่นักเรียนแล้ว แต่เราเป็นนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อม แล้ววันนี้ผมมีความมั่นใจว่าทุกคนที่ได้ทำงานงานรวมกับตัวผมเอง หลังจากที่เผยแพร่งานไป คงจะมีหลายองค์กรมาชวนไปทำกิจกรรมเยอะขึ้น ผมก็คิดว่ามันทำให้เราได้มีบทบาทมากขึ้น และทำให้เรารู้หน้าที่ของตัวเองต่อสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นพร้อมกับเห็นสังคมในบริบทของไทยกว้างขึ้น
ฝากอะไรถึงคนทั่วไปในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อยากบอกทุกท่านเลยว่าอ่านหนังสือที่ผมทำด้วยครับ ผมตั้งใจมาก[หัวเราะ]อย่างแรกเลยก็อยากจะชวนมาอ่านหนังสือ ”เอกภพของสิ่งแวดล้อม” หากคุณกำลังมองถึงอะไรที่มันครอบคลุม สภาพแวดล้อมที่มันละเอียด ให้คุณมองถึง “เอกภพของสิ่งแวดล้อม” อย่างที่บอกว่า เอกภพ เป็นสิ่งที่กว้างมาก คุณเปิดมาหน้าแรกคุณจะได้อะไรที่มันกว้างมากพอ ๆ กับเอกภพเลย นี่จึงเป็นการเปรียบเทียบว่าทำไมเราจึงตั้งชื่อหนังสือว่า”เอกภพของสิ่งแวดล้อม” หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณได้เห็นทั้งชีวิตของคุณตั้งแต่เกิดมา จนปัจจุบัน และในอนาคตคุณจะมีอายุได้มากน้อยเพียงใด ผมไม่ทราบ แต่สิ่งที่ผมทราบคือทุกคนคือ doer ทุกคนคือผู้ที่กระทำมัน และไม่มีใครที่จะปฏิเสธได้ว่าตัวเองคือผู้กระทำ อย่างน้อยหากคุณลองนั่งคุยกับตัวเองว่าคุณได้ทำอะไรไปแล้วในชีวิตในเวลาหนึ่งวัน แล้วคุณจะรู้ว่าเราเป็น doer ได้ทุกเวลา ตลอดชีวิตของเราคือผู้ที่กระทำ แต่วันนี้หากคุณกระทำในสิ่งที่มันแย่ คุณก็จะได้ผลกระทบที่ลบ หากวันนี้คุณได้เปิดอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคุณจะลงมือทำในสิ่งที่มันเป็นบวก ผมก็ยินดีด้วยเพราะคุณเข้าถึงและเข้าใจหนังสือเล่มนี้อย่างแท้จริงแล้ว บทกวีของผมเรื่องแรก “ธรรมะและชาตะ” อยากจะบอกว่าแม้จะเป็นบทกวีเริ่ม แต่จะเป็นบทที่ทำให้คุณได้รู้ว่าคุณอยู่ในเอกภพนี้คุณจะเป็น doer ที่ดีได้อย่างไร
สิ่งที่อยากจะแนะนำคืออยากให้คนลงมืออ่านตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายแล้วคุณจะสามารถคล้องเรื่องได้ทั้งหมด สิ่งที่สำคัญก็คือคุณจะเป็น doer ที่ดีในทุกเรื่องของสังคมและของตัวเอง แล้วคุณจะมีความสุขที่ได้ทำมัน